Policy Brief #7

ข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับที่เจ็ด

จาก การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การให้บริการและคุ้มครองสิทธิ์ของวัยรุ่นและผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ ครั้งที่ 2”
วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.00 – 13.30 น. ณ ห้อง 302 ชั้น 3 สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนา

“แนวทางการบริการและคุ้มครองสิทธิ์ของวัยรุ่นและ

ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ”

เสนอโดย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม   26 ธันวาคม 2562


 

สาระสำคัญของประชุม

  • การบริการและคุ้มครองสิทธิวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและท้องต่อ:ประสบการณ์จากหน่วยบริการนำร่อง 5 แห่ง

(1) ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี  มีการพัฒนาระบบเก็บข้อมูลรายบุคคลและข้อมูลครอบครัวที่ละเอียด และสามารถบูรณาการการทำงานภายในโรงพยาบาลได้ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยกรณีท้องต่อที่ไม่ซับซ้อนจะมีนักสังคมสงเคราะห์ในการดูแลและจัดทำแผนการช่วยเหลือรายกรณี ในกรณีท้องต่อที่ซับซ้อน ที่พบมากคือ ผู้หญิงท้องต่อใช้สารเสพติดตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และระหว่างท้องจนถึงคลอด ส่งผลให้ทารกมีสารเสพในกระแสเลือดด้วย โรงพยาบาลจะทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพระดับจังหวัดคือ (1) ให้คำปรึกษาเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิเด็ก (2) ประเมินทักษะและประเมินความเสี่ยงในการดูแลเด็กของครอบครัว (3) ติดตามโดยโรงพยาบาลจะส่งข้อมูลไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุภาพตำบลในพื้นที่ผ่านระบบ Thai Continuum Of Care (4) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การทำพฤติกรรมบำบัด หากพบว่ามีปัญหาด้านสวัสดิการสังคม สหวิชาชีพจะประเมินแผนการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

(2) เทศบาลตำบลค่ายเนินวงศ์ จังหวัดจันทบุรี ดูแลทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่การบริหารงานของท้องถิ่น บริบทของชุมชนเป็นชุมชนเกษตร อาชีพทำสวนและชาวบ้านมีที่ดินในการประกอบอาชีพ พบว่าเมื่อวัยรุ่นตั้งท้องมักถูกจับแต่งงาน หลังคลอด ผู้สูงอายุจะเป็นผู้ดูแลเด็ก และการพาเด็กอ่อนไปตรวจหรือรับวัคซีนมักทำได้ไม่เต็มที่ เมื่อได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่ามีแม่วัยรุ่นกลับคืนสู่ชุมชน เทศบาลจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้าน และประสานความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม เช่น ช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เมื่อเด็กถึงช่วงปฐมวัยจะสนับสนุนให้เข้าศูนย์เด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น ด้านส่งเสริมและสนับสนุนฝึกอาชีพกับแม่วัยรุ่นจะประสานงานกับศูนย์ฝึกอาชีพส่วนราชการ กรณีพื้นที่มีแม่วัยรุ่นอยู่น้อยจะประสานจัดอบรมฝึกอาชีพร่วมกับกลุ่มอื่น เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น และมีงบสนับสนุนด้านทุนประกอบอาชีพกับแม่วัยรุ่น เน้นอาชีพที่แม่อยู่บ้านเลี้ยงลูกได้ จากการทำงานทำให้เกิดแนวร่วมเพิ่มขึ้น เช่น กศน.เข้ามาร่วมส่งเสริมด้านการศึกษา คนในชุมชนตื่นตัวในการเฝ้าระวังและส่งข่าวมายังเทศบาล เป็นต้น

(3) องค์กรชุมชน กลุ่มฅนวัยใส ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลดอนแก้วเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทที่กลุ่มฅนวัยใจตั้งองค์กรอยู่และทำงานกับแม่วัยรุ่นในชุมชน โดยใช้สำนักงานเป็นที่จัดกระบวนการกลุ่มสนทนาระหว่างแม่วัยรุ่นด้วยกัน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยทุกข์สุข แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต การดูแลลูก ช่องทางสร้างรายได้ และโอกาสในการศึกษา และยังให้ปรึกษารายบุคคล เพื่อรับฟัง ประคับประคอง ร่วมกันวางแผนชีวิตและเป็นที่ปรึกษา ในกรณีที่ซับซ้อน จะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและเพื่อประสานให้แม่วัยรุ่นเข้าถึงบริการ ติดตามสถานการณ์ ความช่วยเหลือ และสวัสดิการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ปัจจุบันสำนักงานได้เพิ่ม ห้องสมุดสำหรับเด็กอายุ 0-6 ปี มีลักษณะเป็น Day Care ที่มีอุปกรณ์เสริมพัฒนาการเด็กเพื่อให้แม่วัยรุ่นพาลูกมาดูแลที่ศูนย์ฯ และมีพื้นที่พบปะกันเพิ่มขึ้น

(4) บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดปทุมธานี การดูแลแม่วัยรุ่นของบ้านพักฯเป็นกิจกรรมในฝ่ายการคุ้มครองสวัสดิภาพ การช่วยเหลือแม่วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องทำงานกับหลายภาคส่วนตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กรณีท้องในวัยรุ่นและทางเลือกเรื่องยุติการท้องกับท้องต่อ ใช้ พรบ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่ให้เด็กมีสิทธิตัดสินใจโดยมีกระบวนการปรึกษา การให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาตัดสินใจ จะเน้นเรื่องประโยชน์สูงสุดกับเด็ก ถ้าเป็นการยุติการตั้งครรภ์จะประสานกับทางโรงพยาบาลปทุมธานี และหลังจากยุติการตั้งครรภ์แล้ว บ้านพักฯ จะให้คำปรึกษาและติดตามประเมินผล

สำหรับ วัยรุ่นที่ท้องต่ออยู่ในชุมชน ที่มีปัญหาซับซ้อนจะนำเข้าสู่กระบวนการสหวิชาชีพ ทางเลือกในการดูแลเด็ก เริ่มจากการพิจารณาความพร้อมของครอบครัวและชุมชนในการดูแลเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่น ถ้าครอบครัวไม่พร้อม บ้านพักฯ จะประสานงานจัดหาครอบครัวทดแทนและมีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก “ครอบครัวทดแทน” เน้นเริ่มจากในเครือญาติก่อนว่าสามารถรับดูแลได้ไหม จากนั้นจึงพิจารณาเรื่องการเข้าสู่สถานสงเคราะห์ หรือครอบครัวอุปถัมภ์เป็นลำดับต่อไป

กรณีวัยรุ่นท้องต่อที่เข้ารับการคุ้มครองในบ้านพักเด็กฯ บริการในบ้านพักฯ จะเริ่มจากการดูแลสวัสดิภาพทั่วไป เรื่องสุขภาพร่างกาย พาไปฝากครรภ์และไปคลอด ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กโดยบ้านพักเด็กฯ มีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ช่วยเหลือเด็กที่มีความประสงค์อยากเรียนต่อ ถ้าเรียนดีจะมีสถาบันเพาะกล้าคุณธรรมมอบทุนการศึกษาให้จนถึงระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท

(5) บ้านพักบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี แนวทางในการช่วยเหลือของบ้านพักฯ เริ่มจากการประเมินสภาพปัญหาและความต้องการในภาวะวิกฤตของผู้ขอใช้บริการก่อนว่าต้องการอะไร หากต้องการขอคำปรึกษา ขาดปัจจัยเพื่อดูแลเด็ก เป็นคดีความ ถูกล่วงละเมิด ไม่ต้องการที่พักจะช่วยเหลือและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการช่วยเหลือระยะยาว

กรณีเข้าพัก (1) ประเมินความความเครียด ตั้งแต่การให้คำปรึกษาแรกรับ ก่อนส่งให้ Case Manager เพราะหลายคนมีปัญหาซ้ำซ้อน เช่น ท้องไม่พร้อมและความรุนแรง กรณีอายุต่ำกว่า 20 ปีจะทดสอบ IQ ประเมินบุคลิกภาพด้านภาวะความเครียด ถ้าอยู่ในภาวะต้องรักษาจะส่งจิตแพทย์จะส่งโรงพยาบาลวชิระ ถ้าต้องนอนโรงพยาบาลจะส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา (2) แจ้งกฎระเบียบของบ้านพักและข้อห้าม เช่น ห้ามใช้โทรศัพท์ส่วนตัว ถ้ารับไม่ได้ต้องหาที่พักใหม่ (3) ตรวจเช็คทรัพย์สินที่นำติดตัวมา โดยเฉพาะของมีคม ยารักษาโรค เพื่อป้องกันการทำร้ายตัวเอง (4) กรณีมีเอชไอวีจะถามความสมัครใจด้านการเปิดเผยผลเลือด ถ้าไม่เปิดเผยจะต้องเก็บเป็นความลับเรื่องยา ส่วนอื่น ๆ สามารถใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนได้ (5) ตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ฝากครรภ์ กรณีประกันสังคม บ้านพักจะสำรองให้เป็นเงินยืมและขอให้เบิกคืนเพื่อช่วยเหลือคนต่อไป (6) ระหว่างการเดินทางไปพบแพทย์จะมีค่าพาหนะ ค่าอาหาร อย่างน้อยวันละ 2 มื้อ ๆละ 40 บาท (7) การแจ้งเกิดจะแจ้งสิทธิของแม่จะแจ้งชื่อพ่อหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสามารถใส่ชื่อเด็กในทะเบียนบ้านพักฉุกเฉินได้กรณีที่แม่ไม่พร้อม (8) ดูแลด้านกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนจบ (9) เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จะดูแลด้านสังคม การศึกษา ทุนการศึกษา สนับสนุนเด็กเล็กในการเรียนอนุบาล (10) กิจกรรมเยียวยาที่ครบวงจร (11) มี nursery สำหรับเด็กเล็ก กรณีแม่เรียนหนังสือตอนกลางวัน โดยประสานกับโรงเรียนในเขตพื้นที่ทั้งโรงเรียนในระบบและนอกระบบ (กศน.) (12) ด้านการฝึกอาชีพ จะเลือกอาชีพที่ผู้หญิงออกไปทำงานได้ เช่น นวดแผนไทย เย็บจักรอุตสาหกรรม โดยประสานกับหน่วยงานภายนอก (13) การทำงานกับผู้ปกครองด้วย เช่น ประเมินครอบครัว การจัดค่ายครอบครัวและการเยี่ยมบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจก่อนคืนเด็กสู่ครอบครัวโดยแม่จะต้องพาลูกกลับมาดูพัฒนาการเดือนละครั้ง (14) ส่งเสริมการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จะสนับสนุนให้คุมกำเนิดกึ่งถาวรทุกรายไม่มีค่าใช้จ่าย กรณีผู้หญิงมีลูก 2 -3 คนแล้วจะสนับสนุนให้คุมกำเนิดถาวร ค่าใช้จ่ายประมาณ 500 บาท เป็นการบำรุงโรงพยาบาล ระยะเวลาการพักขึ้นกับปัญหาของแต่ละคน

การบริหารชีวิตของเด็กวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม การที่เด็กและวัยรุ่นต้องเชิญกับภาวะท้องโดยลำพังเป็นการบั่นทอนด้านจิตใจ บางคนยังเผชิญภาวะที่ซับซ้อนร่วมด้วย เช่น มีเชื้อ HIV โดยไม่ทราบมาก่อน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ/ครอบครัวจากคู่หรือในครอบครัว เครือญาติ

ผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) เป็นผู้สร้างความไว้วางใจและต้องรับฟังเรื่องราวที่ผู้ใช้บริการ(member) แบ่งปันให้มากที่สุดโดยไม่ต้องเร่งค้นหาคำตอบ เมื่อมีภาวะผ่อนคลาย เขาจะสามารถเริ่มต้นคุยได้จากเรื่องง่าย ๆ ระหว่างตั้งท้องและอยู่ในบ้านพัก เป็นช่วงการแกะรอยชีวิต เครื่องมือสำคัญ เช่น Family Tree และ Time line หรือ Arts Therapy บางคนเคยฆ่าตัวตายหรือมีอาการ trauma หรือ Post-Traumatic Stress (PTSD) การยอมรับการฟื้นฟูและเยียวยาต้องใช้เวลา ผู้จัดการรายกรณีต้องติดตามใกล้ชิดจนกว่าจะคลอด กรณีไม่สามารถเยียวยาเชิงลึกได้ต้องพึ่งนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ หากอยู่ระหว่างการท้องแพทย์จะไม่ให้ยาแต่จะเน้นวิธีประคับประคองและบำบัดด้านจิตเป็นสำคัญ

วิเคราะห์สถานการณ์ท้องไม่พร้อมแล้วต้องท้องต่อ: เป็นประเด็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ถูกมองข้ามในสังคมไทย

เป็นปัญหาโครงสร้างในด้านเพศภาวะ ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตด้วยตัวเอง ครอบครัวและคนในสังคมยังคงมองว่า เป็นความผิดที่ตัวผู้หญิง จำเป็นที่ผู้หญิงต้องรับกรรมและภาระนั้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากการขาดมาตรการและนโยบายอย่างเป็นระบบของหน่วยงานและขาดระบบทรัพยากรรองรับ ที่มีอยู่เป็นการอาศัยกลไกเดิมที่อิงกับกฎหมายอื่นมาใช้ หน่วยงานไม่มีทรัพยากรในการจัดการปัญหา ระบบของหน่วยบริการจึงเป็นโครงสร้างที่กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วย สะท้อนความพร่องเชิงนโยบายและมาตรการที่เข้าไม่ถึงความทุกข์ของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและท้องต่อหลายคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ของความรุนแรงที่กระทำซ้ำซ้อน ในเชิงแนวคิด การขับเคลื่อนงานท้องต่อจึงต้องต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจของระบบคิดชายเป็นใหญ่ กระบวนการทำงานจึงต้องมองทั้งระบบตั้งแต่ระบบนโยบาย มาตรการของหน่วยงาน และการจัดบริการ มีการทำงานกับผู้ชายในสังคมและผู้ชายที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เช่น รณรงค์สื่อสารให้ผู้ชายมีความเข้าใจและตระหนักด้านความรับผิดชอบ เพิ่มกระบวนการทำงานและการเข้าถึงกลุ่มผู้ชายโดยเน้นกระบวนการเชิงบวก การส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

ในเชิงปฏิบัติการ ชัดเจนว่าผู้หญิงท้องต่อมีความแตกต่างกันในบริบทชีวิต เส้นชีวิตแต่ละคนมีความเปราะบางและช่วงวิกฤต แตกต่างกัน ตั้งแต่เมื่อรู้ว่าท้องจนกระทั่งพบว่า การยุติการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อชีวิตและจำเป็นต้องท้องต่อ นักวิชาชีพจำเป็นต้องประเมินและคัดกรองเพื่อเข้าถึงสถานการณ์วิกฤตของชีวิตแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน การเข้าไปช่วยเหลือในช่วงวิกฤตของแต่ละคน ต้องมีความตื่นตัวที่จะรู้ว่ามีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นเพื่อเข้าไปแทรกแซง ดังนั้น งานบริการเรื่องกรณีท้องต่อไม่สามารถมองบริการเป็นท่อน ๆ แล้วหวังว่าจะส่งต่อให้ไหลลื่นได้ การทำงานจึงต้องร่วมมือแบบสหวิชาชีพอย่างเป็นระบบ กลไกของหน่วยงานหลายหน่วยงานต้องเห็นประเด็นท้องต่อว่า เป็นประเด็นร่วมเชิงนโยบายและมาตรการ ต้องเข้าใจพลวัตของสถานการณ์ปัญหา ต้องมีหน่วยเจ้าภาพขับเคลื่อนในเชิงรณรงค์ทางสังคม และหน่วยที่ทำเรื่องเกี่ยวกับสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม เพื่อเปลี่ยนเจตคติ เปลี่ยนการมอง ความเชื่อเชิงการให้คุณค่าและความหมายกับชีวิตของผู้หญิง

ในเชิงพัฒนาคนทำงานเรื่องการบำบัดในมิติของสหวิชาชีพ สังคมไทยมีผู้ทำการบำบัดเฉพาะจิตแพทย์กับนักจิตคลินิก ในขณะที่บุคลากรเหล่านี้จำกัด จำเป็นต้องสร้างให้คนทำงานมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถคัดกรองระดับความเครียดของผู้หญิงได้ว่าอยู่ในระดับใด ถ้าผู้หญิงมีทัศนคติต่อตัวเองต่ำมาก คนทำงานจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิด ใช้พลังที่อ่อนโยนทำงานในมิติเยียวยาและสามารถคัดกรองได้ว่าคนไหนจะต้องส่งต่อโดยเร่งด่วน การเปลี่ยน mindset ในกระบวนการทำงานเรื่อง case management นักสังคมสงเคราะห์ต้องทบทวนเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างตัวเองกับผู้หญิงที่ท้องต่อ และต้องทำให้ระดับความสัมพันธ์เป็นแบบ partner หรือ Co-Worker

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
    1.  ต้องสนับสนุนให้บ้านพักเด็กและครอบครัวและสถานรองรับผู้ประสบปัญหา มีศักยภาพในการประสานและรับช่วงการส่งต่อความช่วยเหลือข้ามหน่วยงานหรือข้ามสังกัดกระทรวงเพื่อรองรับกับสถานการณ์และการคุ้มครองสิทธิ์ได้ทันท่วงที รวมทั้งมีความร่วมมือในการติดตามการช่วยเหลือต่อเนื่องและทำงานในทิศทางเดียวกัน
    2. ควรพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในลักษณะเฉพาะกับกลุ่มท้องต่อในภาวะเปราะบางพิเศษ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพราะเป็นกลุ่มที่ต้องใช้พลังในการจัดการปัญหามาก
    3. ควรมีนโยบายสนับสนุนงบประมาณสำหรับการสร้างครอบครัวของพ่อแม่วัยรุ่น อาทิ งบประมาณเพื่อซ่อมแซมหรือปรับสภาพแวดล้อม สภาพบ้านของพ่อแม่วัยรุ่นที่อยู่ในภาวะยากลำบากเพื่อส่งเสริมการดูแลพัฒนาการของเด็กที่กำลังเติบโต
  • กระทรวงศึกษาธิการ
    1.  ต้องมีการตรวจสอบและมีมาตรการต่อกรณี สถาบันการศึกษา โรงเรียน ละเมิดสิทธิ ด้านการศึกษาของวัยรุ่น อาทิ กรณีไม่ให้วุฒิการศึกษากับเด็กที่เรียนจบแต่ครอบครัวยังค้างการชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของโรงเรียน
    2. ควรมีนโยบายสนับสนุนสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือทีมสหวิชาชีพในการทำงานช่วยเหลือวัยรุ่นที่ท้องในโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาอย่างเปิดเผย ไม่ปกปิดข้อมูล
  • กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันสร้างความตระหนักเรื่องการป้องกัน การทำงานด้านข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดต้องมีหลากหลายเพื่อให้วัยรุ่นมีทางเลือกที่สอดคล้องสามารถใช้วิธีการคุมกำเนิดได้จริง
  • องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพตามความสนใจและส่งเสริมให้แม่วัยรุ่นสามารถทำงานมีรายได้ มีความช่วยเหลือด้านนมผง ผ้าอ้อม เสื้อผ้าฯ ตามความจำเป็น โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ลูกเล็ก ตลอดจนส่งเสริมให้การจัดบริการศูนย์เด็กเล็กต้องรองรับกับสภาพปัญหาของพ่อแม่วัยรุ่นในชุมชนเพื่อประคับประคองครอบครัวจนกว่าเด็กเล็กจะได้เข้าโรงเรียนอนุบาล
  • ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กต้องทำงานอย่างมีอาชีพ (professional judgement) มีศักยภาพในดุลพินิจในการทำแผนการทำงานระดับบุคคล (individual development plan (IDP)) ต้องขยับจาก Case Worker ไปเป็น Case Manager คือเป็นผู้จัดการระบบบริการชีวิตให้กับเด็กวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องต่อ เป็นหน่วยเพื่อประสานความช่วยเหลือทำให้เกิดทีมทำงานเป็นสหวิชาชีพที่มาจากหลากหลายองค์กร และสามารถประเมินเรื่องการทำงานกับฝ่ายชายได้ว่าจะช่วยเพิ่มทางเลือกการร่วมรับผิดชอบได้หรือไม่ อย่างไร

ดาวน์โหลดไฟล์ข้อเสนอ (pdf)