ข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับที่หก
จาก การประชุมเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ครั้งที่ 49
การรณรงค์เพื่อสิทธิการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย Pro-Voice#6
การทำแท้งเป็นเรื่องสุขภาพ: Our Rights, Our Abortion, Our Health
วันพุทธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 10.30 – 19.00 น.
ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนา
“แนวทางการบริการและคุ้มครองสิทธิ์ของวัยรุ่นและ
ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ”
เสนอโดย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม 30 กันยายน 2562
วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์เพื่อสิทธิการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย (International Safe Abortion Day) มีการจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนและผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสภาพปัญหาและทางออกเรื่องการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้หญิงทั่วโลกที่ยังต้องเสี่ยงอันตรายหรือเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย
ในประเทศไทย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ร่วมกับ องค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานขับเคลื่อนในประเด็นสุขภาพผู้หญิง การลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการส่งเสริมสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย สื่อสารให้สังคมรู้และเข้าใจว่าการยุติการตั้งครรภ์นั้นถือเป็นบริการสุขภาพ เป็นครั้งที่ 6 ในหัวข้อ ‘Our Rights, Our Abortion, Our Health’
สาระสำคัญของประชุม
- มุมมองเรื่องการทำแท้งจากเสียงของนักกิจกรรม และนักเขียนรุ่นใหม่ที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมโดยใช้มุมมองของ young feminist เพื่อตั้งคำถามกับความเป็นธรรมทางสังคม อำนาจชายเป็นใหญ่ และสิทธิตัวตนของผู้หญิง
สิทธิในเนื้อตัวร่างกายและสิทธิการทำแท้งมองผ่านวรรณกรรม วิพากษ์วรรณกรรมโดยเปรียบเทียบระหว่างสังคมตะวันตกกับสังคมไทยในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 – 2528 ขณะที่วรรณกรรมตะวันตกเริ่มมีการตั้งคำถามกับสิทธิและความต้องการของผู้หญิง อาทิ การที่ผู้หญิงถูกมองเป็นเครื่องมือผลิตลูก วรรณกรรมจึงมีบทบาทต่อการรณรงค์สิทธิในการทำแท้งมาก ขณะที่วรรณกรรมในสังคมไทย ยังเน้นศีลธรรมและตีกรอบความคาดหวังต่อผู้หญิง อาทิ การเป็นเมียและแม่ที่ดี และฉายภาพการทำแท้งว่า น่ากลัว สร้างบาดแผลในใจ และคือการลงโทษ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 คือความไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องการทำแท้ง การที่กฎหมายอาญามาตรา 301 ระบุว่า ผู้หญิงที่ทำแท้งหรืออนุญาตให้ผู้อื่นทำแท้งให้นั้นเป็นความผิด และต้องรับโทษจำคุกและถูกปรับนั้นทำให้ผู้หญิงถูกสถาบันทางกฎหมายตีตราว่าเป็นอาชญากร
ผีเด็ก พลังงานตัวอ่อน และจิตวิญญาณของผู้หญิงที่มีประสบการณ์ทำแท้ง ความเชื่อเรื่องการตาย ผีพลังงานวิญญาณ หรือสัมผัสสื่อสารของผีเด็กจากการทำแท้ง ถูกสังคมในระบบชายเป็นใหญ่ครอบงำกับผู้หญิงและผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องทำแท้ง โดยถูกให้ความหมายว่า คือผีเด็กที่คอยติดตาม อาฆาต และยังไม่มีคำอธิบายในขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการทำแท้งในสังคมไทยที่ให้พื้นที่กับการอธิบายเรื่องนี้ ขณะที่ผู้หญิงที่เคยทำแท้งบางคนรู้สึกถึงความจริงที่เธอเชื่อมโยงกับผีเด็กนั้น ในประเทศอินโดนีเซีย นักเคลื่อนไหวสร้างชุดการอธิบายเรื่อง การทำแท้ง ว่าคือ การที่เด็กหลุดออกไปจากแม่ด้วยความยินยอมเพราะรู้เงื่อนไขของแม่ดีว่า ถ้าต้องตั้งครรภ์ต่อไปจะมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี
กระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศสำหรับวัยรุ่น ครูต้องมีความเข้าใจเรื่องความเป็นเพศ ที่มาของอคติทางเพศและความไม่เป็นธรรม ต้องมีกระบวนการและรูปแบบที่หลากหลาย โดยครูทำหน้าที่สร้างโจทย์ชวนคุยเพื่อให้เห็นแง่มุมที่หลากหลาย และมีพื้นที่ในการแสดงออกโดยไม่ถูกตัดสิน เนื้อหาการเรียนรู้เรื่องเพศต้องสร้างความเข้าใจในเนื้อตัวร่างกายและสิทธิ เมื่อท้องไม่พร้อมต้องมีทางเลือก เด็กต้องได้รับการยอมรับและเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย
พื้นที่สื่อสารและเรียนรู้เรื่องเพศของผู้หญิง การที่สังคมไทยไม่พูดเรื่องเพศกันเปิดเผย ทำให้ผู้หญิงไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกาย สิทธิและการดูแลตัวเอง บริการทางการแพทย์ยังเน้นลักษณะตั้งรับ ทำให้หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันหรือหากท้องไม่พร้อมจึงปรึกษาใครไม่ได้ วัยรุ่นจึงเลือกปรึกษากับคนในอินเตอร์เน็ต และเสี่ยงกับการได้รับความรู้ที่ผิด ถูกหลอกหรือไปทำแท้งไม่ปลอดภัย เพจน้องสาว คือพื้นที่พูดคุยเรื่องเพศและความสุขทางเพศของผู้หญิงเพื่อให้ผู้หญิงรู้สิทธิของตัวเอง ทางเลือกเมื่อท้องไม่พร้อมและสิทธิที่จะทำแท้งอย่างปลอดภัยซึ่งมักไม่ได้รับการพูดถึง
- “การทำแท้งเป็นสิทธิของผู้หญิง ตัวอ่อนมีสิทธิไหม หมอควรสนับสนุน” เสียงจากผู้หญิงที่ผ่านประสบการณ์ทำแท้ง สื่อสารความรู้สึกเกี่ยวกับการทำแท้งผ่านศิลปะ
ภาพวาด เมื่อเริ่มต้นวาด มันบอกไม่ได้ว่าจะวาดอะไร ได้แค่ระบายอารมณ์ ความเก็บกดผ่านสีสัน สีแดงเปรียบเสมือนสิ่งที่มาจากเรือนร่างมันเข้มข้นมาก แต่ได้ลงมือความเข้มของสีจะค่อยจางลงจนเหลือเป็นแค่ภาพลางเลือน การปั้น คือการสะท้อนสิ่งที่อยากบอก ทุกคนมีหน้าตาเป็นตนเอง ไม่จำเป็นต้องปั้นหน้าเพื่อให้คนอื่นรู้สึกดี การปั้นคือความจริง เป็นความรู้สึกที่อยากพูดดัง ๆ ผู้หญิงที่ทำแท้ง ไม่ใช่คนบาป ไม่ใช่ผู้หญิงสิ้นคิด เรามีสติปัญญาแก้ไขปัญหาตัวเอง อย่าพยายามใช้ความเชื่อของสังคมมาลงโทษว่าเราเป็นคนง่าย ไม่รับผิดชอบ เพราะการทำแท้งคือความรับผิดชอบตนเอง
- ความรู้และความเข้าใจเรื่องวิธีการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทางการแพทย์ โดยเครื่องดูดสุญญากาศ (Manual Vacuum Aspiration: MVA) และ การใช้ยา (Medical Abortion: MA) ตามอายุครรภ์ในปัจจุบัน
วิธีการยุติการตั้งครรภ์มีมานับพันปี แต่เทคโนโลยีการใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (Manual Vacuum Aspiration: MVA) เพิ่งเข้ามาเมืองไทยประมาณ 60 ปี และยังถูกวงการแพทย์ไทยปฏิเสธ ปัจจุบันมีแพทย์สูติฯใช้อุปกรณ์นี้ไม่ถึง 30% เนื่องจากไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการทำแท้ง ปัจจุบันการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ (Medical Abortion: MA) มีอยู่ในบริการของโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการกับสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย และมีความพยายามสร้างแพทย์เป็นเครือข่ายอาสา (R-SA) ให้บริการ รวมทั้งพยายามขยายกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทั่วประเทศ งานวิจัยที่ประเทศไทยร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า ผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์โดยใช้ยาแท้งสำเร็จ 98% ในกลุ่มที่ไม่สำเร็จเมื่อใช้ยาซ้ำผู้หญิงก็แท้งสำเร็จและปลอดภัย การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ถูกต้องนั้นมีความปลอดภัยมาก
- “ทำแท้งคือบริการสุขภาพ” ถ้าสังคมมีความฝันถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียม สมควรต้องมองการท้องไม่พร้อมและการทำแท้งว่าเป็นเรื่องปกติ เหมือนการรักษาภาวะมีบุตรยาก มะเร็งปากมดลูก
ประสบการณ์ของแพทย์ในการช่วยเหลือผู้หญิงที่ทำแท้ง ที่ตั้งคำถามกับวิธีคิดในการบริการทำแท้งทางการแพทย์ที่มองว่า การทำแท้งจะทำได้ต่อเมื่อการตั้งท้องต่อนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้หญิง ภายใต้เงื่อนไขการให้บริการเพราะต้องช่วยให้ผู้หญิงรอดตายนั้น มันมีความหมายในเชิงคุณค่าต่อผู้ให้บริการ หลักจริยธรรมทางการแพทย์ที่ใช้บริการคนไข้ไม่รวมเรื่องบริการทำแท้ง ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมไม่สามารถร้องขอบริการนี้ได้ เพราะทางการแพทย์ยังมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี ผิดจริยธรรม มีคำอธิบายไว้เพียง เป็นหน้าที่ของแพทย์สูติฯ ที่ต้องทำการรักษาและดูแลให้ดีที่สุด เมื่อมีคนไข้ที่ทำแท้งจากที่อื่นและติดเชื้อจนต้องมารักษาที่โรงพยาบาล ภายใต้หลักการให้บริการทางการแพทย์นั้นต้องเพื่อประโยชน์ต่อคนไข้ แต่บริการทำแท้งที่ปลอดภัยไม่ถูกมองว่าเป็นเป็นการยังประโยชน์แก่คนไข้ และเลือกการทำหรือไม่ทำอะไรที่อาจก่อให้เกิดโทษกับคนไข้ เพราะผู้หญิงต้องไปเสี่ยงกับบริการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย แม้ต้นทุนการให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยในโรงพยาบาลจะต่ำมาก แต่ก็ไม่มีคุณค่าเพียงพอกับการดูแลและรักษาชีวิตของผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งอย่างปลอดภัย และแม้การตายของผู้หญิงที่ทำแท้งจะเป็นความสูญเสียและมีผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย
- ความมุ่งมั่นในพันธสัญญา (Our Commitments) ในกลุ่มภาคีที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อสิทธิและคุณค่าชีวิตของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม Abortion is Health Care ด้วยการสนับสนุน เอื้ออำนวย และพัฒนาให้เกิดระบบบริการที่เข้าถึงได้และปลอดภัย
+ การปิดกั้นโอกาสและสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยของผู้หญิงเป็นความรุนแรง ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งต้องเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม การตั้งท้องไม่ได้ช่วยหยุดยั้งความรุนแรง และเมื่อท้องไม่พร้อมกลับมีแนวโน้มถูกใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง
+ เป้าหมายสูงสุดของการให้บริการสายด่วนท้องไม่พร้อม คือ ต้องการให้ผู้หญิงมีความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ ใช้ความต้องการของผู้หญิงเป็นศูนย์กลางในการให้การปรึกษาเน้นเพื่อเสริมพลังและมีทางเลือก ส่งเสริมผู้หญิงให้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัยและสิทธิประโยชน์ในการรักษาอย่างเป็นธรรม
+ การขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เชื่อมั่นในการตัดสินใจและทางเลือกของผู้หญิง และมั่นคงกับการร่วมกับทุกเครือข่ายสร้างสะพานก้าวข้ามข้อจำกัด ทั้งเรื่องทัศนคติ บริการสุขภาพและสังคม รวมทั้งข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย เพื่อให้ทุกทางเลือกเป็นจริงและผู้หญิงเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างมีศักดิ์ศรี
+ เครือข่ายอาสา RSA (Referral System for Safe abortion) ทำงานร่วมกับเครือข่ายวิชาการ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ บริการสายด่วน 1663 กลุ่มทำทาง ฯ ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรฐานที่ปลอดภัยกับผู้หญิงมามากกว่า 20,000 คน และอยากเห็นผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในระบบบริการทั่วประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี
+ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประกาศให้เป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการป้องกันการท้องไม่พร้อมเรื่องยาคุมกำเนิดกึ่งถาวร และคุ้มครองสิทธิด้านการรักษาพยาบาลเมื่อผู้หญิงต้องการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้โรงพยาบาลที่อยู่ในโครงการ เพราะเห็นว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่จะต้องเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน,/p>
+ ผลกระทบที่ได้รับจากกฎหมายเรื่องการทำแท้งต่อผู้ให้บริการ สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัยจะเร่งการดำเนินการเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้ให้บริการให้ทำงานได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อกฎหมาย และจะพยายามทำความเข้าใจกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการขั้นตอน ระเบียบปฏิบัติระหว่างแพทย์กับเจ้าพนักงานสอบสวน(ตำรวจ)ว่า ขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นอย่างไร
+ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สสส. ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนงานตาม พรบ.การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 เพื่อให้คนและกลไกสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องการเห็นเด็ก วัยรุ่นที่ท้องมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย โรงพยาบาลมีทัศนคติที่ดีในการดูแลเยาวชนที่ท้อง และถ้าเขาเลือกตั้งครรภ์ต่อต้องแน่ใจว่าจะได้เรียน
- มายาคติและการเมืองเรื่องการทำแท้งในภาพยนตร์
จากการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำแท้งย้อนหลังตั้งแต่ปี 2546 – 2560 ภาพยนตร์สร้างตัวละครที่ทำแท้งให้เป็นคนที่อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหา เลือกเดินทางผิดและตัดสินใจไปทำแท้ง และสร้างภาพเหมารวมให้ผู้หญิงที่ทำแท้งเป็นแต่กลุ่มวัยรุ่น วัยศึกษา มีพฤติกรรมไม่เป็นตามครรลองวิถีของผู้หญิงในสังคมที่ควรเป็น ภาพของสถานที่ทำแท้งถูกสร้างให้ดูไม่มีมาตรฐานทางการแพทย์ ทำให้รู้สึกว่าการทำแท้งเป็นเรื่องน่ากลัว และอันตราย ผลกระทบต่าง ๆ จากสังคมที่ให้ภาพเรื่องการทำแท้งในด้านเดียว ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมหลายคนถูกคนรอบข้างกดดันให้ต้องท้องต่อและทนกับความทุกข์ นี่เป็นเพราะคนสร้างศิลปะในสังคมไทยมักถูกตัดสินจากมาตรฐานศีลธรรมเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ผลิตสื่อศิลปะต้องเลือกว่าจะผลิตเนื้อหาตามครรลองทางศีลธรรม ใช่หรือไม่ และหากผลิตเนื้อหาให้ผู้หญิงที่ทำแท้งกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติได้ก็ต้องเสี่ยงกับการถูกเซ็นเซอร์ การนำเสนอเรื่องทำแท้งในภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการศึกษาหรือค้นคว้าข้อมูล ทำให้ผลิตเรื่องราวออกมาเป็นเพียงพฤติกรรมปัจเจก และเป็นแบบภาพตัวแทนที่ไม่รอบด้าน เสนอเน้นแต่ภาพเหมารวม และการที่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่พร่ำแต่ศีลธรรมแต่การเมืองประชาธิปไตยกลับถดถอยย้อนยุค ขณะที่ก็เพิ่มการปิดกั้นจินตนาการ ความคิด ทางเลือก เสรีภาพ และอิสรภาพในการแสดงออก ทำให้การทำงานในเชิงจินตนาการเกี่ยวกับภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ท้าทายและยากลำบากมากขึ้น
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
- ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่เอาผิดกับผู้หญิงที่ทำแท้งและทำให้สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย
- ต้องผลักดันให้การทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นระบบบริการปกติของโรงพยาบาลทั่วประเทศ เป็นบริการสุขภาพที่แพทย์ทุกคนทำได้ และต้องมีแพทย์ให้บริการอยู่อย่างน้อยในทุกจังหวัด
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการทบทวนขั้นตอน ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายทำแท้งในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อสร้างความชัดเจนในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องและสอดคล้องกับการส่งเสริมการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายให้เข้าใจตรงกัน
- ร่วมกันสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพในระหว่างใช้ยายุติการตั้งครรภ์ได้อย่างที่ถูกต้อง และสามารถเข้าถึงยายุติการตั้งครรภ์ได้โดยสะดวก เพื่อการนำไปใช้ยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย
- สร้างความรู้ ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยว่า การทำแท้ง คือ บริการสุขภาพสำหรับผู้หญิง และการทำแท้งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและการพัฒนาตัวเองในชีวิตของผู้หญิงที่ในบางช่วงอาจพลั้งพลาดและต้องผ่านพ้นเพื่อเดินหน้าต่อไปให้ได้
- ผลักดันให้การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพศศึกษา ต้องประกอบไปด้วย กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีการสร้างพื้นที่แห่งความไว้วางใจและไม่ตัดสินต่อความคิดเห็น มีเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจเรื่องกรอบเพศภาวะ ส่งเสริมให้เด็กเท่าทันวิธีคิดและอคติในเรื่องเพศที่ครอบงำในสังคม ให้เด็กตระหนักถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตนเอง รับรู้สิทธิและทางเลือกเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย
- ต้องสร้างพื้นที่ทางสังคมสำหรับผู้หญิงที่เคยทำแท้ง ซึ่งมีประสบการณ์อย่างหลากหลายได้เกิดการอธิบาย ประสบการณ์ของตนได้อย่างรู้สึกปลอดภัย เพื่อต่อสู้กับความหมายเดิมในระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำให้ผู้หญิงต้องรู้สึกผิด
- สนับสนุนการสร้างเวทีพูดคุยสื่อสารกับหลากหลายภาคส่วนในพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย โดยใช้ชุดความรู้จากประสบการณ์ของผู้หญิงที่ผ่านความทุกข์มาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
- สนับสนุนให้เกิดพัฒนาสื่อใหม่ ๆ และช่องทางที่หลากหลาย เพื่อกระจายทัศนคติใหม่สู่สังคมเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัย
- การผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับการทำแท้ง ควรเพิ่มเรื่องการนำเสนอแง่มุมของการรื้อถอนทัศนคติ การยอมรับในสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลก่อนผลิต และภาพยนตร์ควรสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่มีผลกระทบกับเรื่องการทำแท้ง
You must be logged in to post a comment.