Policy Brief #4

ข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับที่สี่

จากการประชุมขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ครั้งที่ 48 
เรื่อง “นโยบายและปฏิบัติการเรื่องบ้านพักสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในประเทศไทย” 
วันที่  9 กรกฎาคม 2562 เวลา  09.00 – 13.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ  7 รอบพระชนมพรรษา สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กรุงเทพมหานคร

 

เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนา

“แนวทางการบริการและคุ้มครองสิทธิ์ของวัยรุ่นและ

ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ”

เสนอโดย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม   22 กรกฎาคม 2562

สาระสำคัญของประชุม

               “บ้านพักสำหรับผู้หญิงและวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม”  เป็นบริการพื้นฐานที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมและจำยอมท้องต่อ  บ้านพักฯ ที่มีระบบบริการรอบด้าน ทำงานบนฐานความเข้าใจความต้องการของผู้ประสบปัญหานั้น ต้องมีบทบาทในการประสานความช่วยเหลือด้านสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิ ร่วมถึงการเสริมศักยภาพและโอกาสด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ  การทำงานกับบุคคลรอบข้างครอบครัวและชุมชนเพื่อให้เป็นระบบสนับสนุนที่จะช่วยผู้หญิงให้สามารถดำรงชีวิตและเลี้ยงดูแลเด็กต่อไป ตลอดจนหาทางออกทางเลือกในกรณีที่ยังไม่สามารถดูแลลูกได้ ประเทศไทยเริ่มจัดบริการบ้านพักเด็กและครอบครัว ในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 และขยายครอบคลุม 77 จังหวัด ในพ.ศ. 2545 ดำเนินงานอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย 3 ฉบับคือ พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546, พรบ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และพรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยมีเป้าหมายให้บ้านพักเด็กและครอบครัวเป็นสถานที่รองรับพักพิงชั่วคราวสำหรับเด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหาในมิติทางสังคมที่ต้องได้รับการคุ้มครอง  ผู้หญิงและวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของผู้ประสบปัญหาในมิติสังคมที่มาใช้บริการ

               สำหรับพม. ความท้าทายของการให้จัดบริการสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมของบ้านพักเด็กและครอบครัวคือ[1]  (1) มีกรอบภารกิจหลักเป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวเพื่อรองรับวิกฤติเบื้องต้นของผู้ประสบปัญหาทางสังคม ซึ่งมีความหลากหลายทั้งลักษณะปัญหา กลุ่มประชากร และความต้องการ  ทำให้มีข้อจำกัดในด้านการจัดการสถานที่  ไม่ได้ออกแบบการดูแลช่วยเหลือเฉพาะด้านอย่างเฉพาะเจาะจง   (2)  มีข้อจำกัดด้านอัตรากำลังของข้าราชการ จำนวนบุคลากรที่จำนวนน้อย เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นการจ้างเหมาจึงมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้โอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทำได้ไม่ต่อเนื่อง (3) การดูแลช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องท้องต่อ ต้องดำเนินงานบนฐานองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากสหวิทยาการ ไม่สามารถจัดการได้เบ็ดเสร็จในบริการของบ้านพักฯ ต้องอาศัยความร่วมมือประสานการทำงานในภาครัฐข้ามกระทรวงในเชิงเครือข่ายและสหวิชาชีพทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง ดังนั้นการจัดบริการที่มีคุณภาพ ต้องมีการจัดระบบบริการภายในของบ้านพักฯ ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายในทุกระดับ

               ขณะที่ประสบการณ์ของบ้านพักขององค์กรภาคเอกชน คือสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ซึ่งให้บริการ  “บ้านพักฉุกเฉิน”[2]  เพื่อดูแลผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบ บ้านพักฉุกเฉินได้พัฒนา “โปรแกรมดูแลผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม” เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือ ผลการดำเนินงานจากการดำเนินงานตามกระบวนการดูแลนี้ พบว่าร้อยละ 90 ของวัยรุ่นที่มาขอรับบริการ สามารถวางแผนชีวิตโดยมีครอบครัวและชุมชนร่วมสนับสนุนดูแล  โดยส่วนใหญ่ได้กลับไปเรียนหนังสือ มีการวางแผนชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์มีการคุมกำเนิด โปรแกรมดังกล่าวนี้ มีแนวปฏิบัติ 12 ด้านคือ (1) ช่วยเหลือเฉพาะหน้าเรื่องที่พักและปัจจัยสี่ (2) ดูแลสุขภาพทั้งทางกายและสุขภาพจิตเร่งด่วน (3) ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้านบริการสุขภาพและดำเนินการโอนย้ายสิทธิสุขภาพ เพื่อใช้บริการในสถานบริการสุขภาพ (4) มีกระบวนการสืบค้นข้อมูลเพื่อประเมินแนวทางการดูแลและกระบวนการวางแผนฟื้นฟูร่วมกันกับผู้หญิง โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของเจ้าหน้าที่ (5) ดูแลการเยียวยาและเสริมศักยภาพ มีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักศิลปะบำบัด ทำการบำบัดเฉพาะราย  (6) มีกิจกรรมกลุ่มครอบครัวบำบัด เชิญพ่อแม่ผู้ปกครองมาอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากครอบครัวที่ผ่านพ้นประสบการณ์มาก่อน  (7) อบรมเสริมสร้างศักยภาพเรื่องทักษะชีวิตสำหรับแม่วัยรุ่น 3-4 หลักสูตร (8) ใช้กระบวนการศาสนะบำบัด มีนักจิตวิทยานำในเรื่องการทำสมาธิ สัปดาห์ละ 1 วัน และทำค่ายยุติความรุนแรงด้วย (9) จัดกิจกรรมบันเทิงใจต่าง ๆ เช่น ดนตรี ลีลาศ โยคะ  (10) ทำงานกับครอบครัว เป็นการทำงานของสังคมสงเคราะห์ การเยี่ยมบ้าน เพื่อประเมินสภาวะต่าง ๆ อย่างรอบด้าน (11) การศึกษาและฝึกอาชีพ ขึ้นอยู่ในความเหมาะสมของแต่ละราย การฝึกวิชาชีพเป็นหลักสูตรที่มีประกาศนียบัตร วุฒิบัตรให้เพื่อให้สามารถเอาไปประกอบอาชีพได้ในเรื่องการสมัครงาน (12) จัดโครงการเริ่มต้นทุนชีวิตใหม่ให้แม่วัยรุ่น โดยมีเงื่อนไขว่าแม่วัยรุ่นที่มาคลอด ต้องเลี้ยงลูกอยู่ เรียนหนังสือไปด้วย จะมีเงินสะสมให้เดือนละ 1500 บาท

               บทเรียนสำคัญจากการพัฒนาโปรแกรมการดูแลและจัดสวัสดิการสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในบ้านพักฉุกเฉิน ซึ่งพัฒนาจากฐานการทำงานที่ได้ทบทวนเรียนรู้ไปกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหานั้น  พบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จประกอบด้วย  (1) ฐานคิดของการให้บริการในทุกมิติเป็นบริการที่ตั้งอยู่บนความเข้าใจว่าปัญหาท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เข้าใจผู้ประสบปัญหา ให้บริการโดยเอาผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง เน้นการเสริมพลังเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเลือกเส้นทางชีวิตของตนเองได้ (2) มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (สังคมสงเคราะห์ จิตวิทยา กระบวนการบำบัด)  เพื่อนำไปสู่การเยียวยา ฟื้นฟู  ทั้งในระดับบุุคคลและครอบครัว  (3) วางระบบบริการภายในบ้านพักที่เป็นระบบ มีแนวทางปฏิบัติภายในที่ชัดเจนร่วมกัน  (4) ใช้หลักการและกระบวนการ “การจัดการรายกรณี (Case Management)”   มาให้ความช่วยเหลือ ทำให้สามารถแสวงหาทางเลือกของบริการจากสหวิชาชีพ และมีการติดตามต่อเนื่องระยะยาว  (5) ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นเพื่อมาร่วมจัดบริการในรูปแบบต่างๆ ในบ้านพัก

 

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

(1) รัฐควรจัดให้มีบริการบ้านพักเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมอย่างน้อยภูมิภาคละหนึ่งแห่ง เพื่อให้เกิดการดูแลได้อย่างเฉพาะเจาะจง สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ เช่น ที่ตั้งของบ้านพักควรอยู่ใกล้กับสถานพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปตรวจครรภ์และการคลอดที่ต้องปกปิด

(2) พัฒนาแนวทางมาตรฐานการดูแลและจัดสวัสดิการผู้หญิงและวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมของบ้านพักเด็กและครอบครัว เพื่อให้บุคลากรใช้เป็นแนวทางในการจัดบริการ เช่น มาตรฐานการดูแลคนท้องไม่พร้อมในบ้านพัก การดูแลเด็กอ่อน  เช่น  ควรมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเป็นที่เข้าใจร่วมกันของบ้านพักในภาครัฐทุกแห่ง เรื่องอายุครรภ์และกรอบระยะเวลาที่ผู้หญิงและวัยรุ่นท้องไม่พร้อมจะสามารถเข้ามาอาศัยพักพิงได้ให้เป็นมาตรฐาน 

(3) พัฒนากระบวนการทำงานเชิงป้องกันสำหรับผู้หญิงในบ้านพักได้เกิดความตระหนักและมีความฉลาดรู้เรื่องเพศ อาทิ การรู้จักเนื้อตัวร่างกายตนเอง การสังเกตเนื้อตัวร่างกาย สังเกตการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เรื่องประจำเดือน และการท้อง เพื่อนำมาสู่การป้องกันและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

(4) ใช้หลักการและกระบวนการ “การจัดการรายกรณี (Case Management)”   โดยให้เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวทำหน้าที่ “ผู้จัดการรายกรณี (Case Manager)” เป็นผู้ประสานทรัพยากรในการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิ เชื่อมโยงให้ผู้หญิงเข้าถึงสวัสดิการด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา การส่งเสริมอาชีพและการมีรายได้ การประเมินและทำความเข้าใจกับครอบครัว/ชุมชนในการกลับสู่ชุมชน การคุ้มครองด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม  ทำให้สามารถแสวงหาทางเลือกของบริการจากสหวิชาชีพ รวมถึงมีการติดตามต่อเนื่องระยะยาว

(5) พัฒนาระบบฐานข้อมูลของผู้ประสบปัญหา เพื่อดูแนวโน้วของสถานการณ์ สภาพปัญหาและความต้องการ รวมถึงใช้ติดตามผลการจัดบริการสวัสดิการและการคุ้มครองสิทธิ เพื่อสะท้อนช่องว่างของบริการสำหรับผู้หญิงและวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมและท้องต่อ  เพื่อนำมาพัฒนาระบบบริการและการจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องต่อไป

(6) เพิ่มการศึกษาวิจัยเพื่อค้นคว้าหารูปแบบการทำงานเพื่อดูแลและจัดสวัสดิการให้กับเด็กที่เกิดจากความไม่พร้อมได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ

(7) สนับสนุนให้มีการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการทำครอบครัวอุปถัมภ์ (foster home) เพื่อหาแนวทางในการขยายผลการมี foster home ได้กว้างมากในระดับพื้นที่ เพื่อการช่วยเด็กและผู้หญิงได้มากขึ้น

(8) สนับสนุนการสร้างอาสาสมัครในชุมชนหรือหมู่บ้านในการทำงานดูแลวัยรุ่นหรือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องท้องต่อในพื้นที่ชุมชน เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามต่อในชุมชน  โดยมีงบประมาณสนับสนุนการทำงานและการพัฒนาทักษะให้กับอาสาสมัครเพื่อรับมือ โดยมีบ้านพักเด็กฯ ทำหน้าที่พี่เลี้ยงสนับสนุน

(9) ต้องมีแนวทางหรือนโยบายสนับสนุนสวัสดิการด้านเศรษฐกิจสำหรับผู้หญิงและวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมและต้องท้องต่อ คือสร้างหลักประกันด้านการทำงาน การประกอบอาชีพ และการส่งเสริมให้มีรายได้เพียงพอต่อการดูแลลูก

(10) การจัดบริการช่วยเหลือต้องมีความละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง และต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความลับ บุคลากรต้องทำงานร่วมกับผู้หญิงและวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมในบ้านพักอย่างต่อเนื่อง ในการฟื้นฟูศักยภาพให้ผู้หญิงสามารถคิด วิเคราะห์และตัดสินใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและทางเลือกในชีวิตตนเองได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยบุคลากรในบ้านพัก

        • ต้องมีทักษะในการประเมินและรับมือกับความไม่แน่นอนในการตัดสินใจเรื่องท้องต่อ การหาข้อยุติเรื่องการดูแลเด็ก และหากตัดสินใจเลี้ยงลูกต่อก็ยังต้องติดตามดูแลและสนับสนุนด้วย
        • ต้องมีทักษะและเครื่องมือในการทำงานเพื่อฟื้นฟูศักยภาพ สภาพจิตใจ และการประเมินภาวะคลี่คลายภาวะผลกระทบจากความรุนแรงที่ผู้หญิงประสบ
        • เนื่องจากการท้องไม่พร้อมมีความละเอียดอ่อน การลงเยี่ยมบ้านและการเปิดเผยเรื่องการท้องไม่พร้อมกับผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวควรกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงหรือวัยรุ่นมีความพร้อมและต้องให้สิทธิในการตัดสินใจมาจากตัวผู้หญิงนั้นเป็นหลัก
        • ผู้หญิงและวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม ควรมีสิทธิที่จะเลือกไปขอใช้บริการบ้านพักจากนอกพื้นที่ได้ เป็นต้น

(11) ทบทวนระเบียบและขั้นตอนในการประสานส่งต่อที่ไม่จำเป็น เพื่อลดขั้นตอนในการประสานส่งต่อระหว่างหน่วยบริการภาคเอกชนและภาครัฐขั้นตอนที่มีควรเอื้อและอำนวยความสะดวกต่อการช่วยเหลือเพื่อประโยชน์สูงสุดของการช่วยเหลือ

(12) การประสานส่งต่อระหว่างบ้านพักสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในภาครัฐด้วยกันในพื้นที่ใกล้เคียงควรกระทำได้ กรณีที่หน่วยบริการบ้านพักนั้น ๆ มีพื้นที่ไม่เพียงพอในการรองรับเพิ่ม

(13) มีงบประมาณสนับสนุนให้หน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญมีความเข้าใจในประเด็นเฉพาะ มีความละเอียดอ่อน และมีความพร้อม สามารถเข้ามาทำงานจัดบริการเรื่องนี้ได้

………………………………………..

[1] สรุปจากปาฐกถานำเปิดการประชุม เรื่อง “ข้อท้าทายต่อนโยบายเรื่องสวัสดิการบ้านพักสำหรับผู้หญิงท้องไม่พร้อม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์”  ของนายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน

[2] สรุปจากการนำเสนอเรื่อง โปรแกรมการดูแลและจัดสวัสดิการสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในบ้านพักฉุกเฉิน โดย ณัฐิยา ทองศรีเกตุ  ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี

ดาวน์โหลดไฟล์ข้อเสนอ (pdf)