
ข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับที่สาม
จากการประชุมขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ครั้งที่ 47 วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 09.00 – 13.30 น. ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข
เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนา
“แนวทางการบริการและคุ้มครองสิทธิ์ของวัยรุ่นและ
ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ”
เสนอโดย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม 16 เมษายน 2562
สาระสำคัญของประชุม
ภายใต้กรอบกฎหมายว่าด้วยศาลคดีเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ที่มีการใช้มาตรการคุ้มครองเด็กโดยอาศัยอำนาจคำสั่งศาลในการจัดทำแผนแก้ไขและฟื้นฟู เยียวยาเด็กและวัยรุ่น ผนวกกับพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ที่เปิดให้องค์กรเอกชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ทำให้ศาลคดีเยาวชนและครอบครัว โดยผู้พิพากษาสมทบสามารถใช้อำนาจศาลในการพิจารณาเพิ่มโอกาสและทางเลือกด้านการศึกษาให้กับเด็กได้ สมาคมการศึกษาตลอดชีวิตและส่งเสริมอาชีพ จึงอาศัยกรอบข้างต้นในการทำงานช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่นที่กระทำผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้มีโอกาสทางการศึกษา โดยการเปิดศูนย์การเรียนและจัดกระบวนการเรียนการสอนด้วย ตลอดจนออกผลการประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปพ.) ในกรณีของวัยรุ่นที่ท้องและไม่สามารถเรียนในโรงเรียนเดิมสามารถมาเรียนต่อจนจบ ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาในรูปแบบหนึ่ง โดยมีผู้พิพากษาสมทบเป็นบทบาทสำคัญในการที่จะพัฒนาแผนและออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อฟื้นฟู เยียวยากับตัวเด็ก ร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในครอบครัวและชุมชน ร่วมถึงดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กในมิติต่าง ๆ ระหว่างที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมในระยะเวลา 1 ปี โดยมีรูปแบบการทำงานอย่างหลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาที่เผชิญ (เช่น กลุ่มที่ท้องที่ติดเชื้อ HIV, ท้องติดยา) กระบวนการทำงานจึงทั้งลงลึกรายบุคคล งานในลักษณะครอบครัวบำบัด และเยียวยาแบบกลุ่ม Group Support
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมและต้องท้องต่อในมิติสุขภาพและสวัสดิการสังคม จากประสบการณ์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกาะขวาง ซึ่งเป็นหน่วยบริการแห่งเดียวในจังหวัดจันทบุรีที่ถ่ายโอนมาอยู่กับท้องถิ่นในตำบล มีกลุ่มแม่อาสาสมัครทำงานเรื่องการติดตามดูแลแม่หลังคลอดและสนับสนุนให้ผู้หญิงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทาง รพ.สต.จะได้รับข้อมูลแม่วัยรุ่นจากทางโรงพยาบาลประปกเกล้า (รพ.ศูนย์) จากนั้นกลุ่มแม่อาสาฯลงเยี่ยมบ้าน เพื่อให้ข้อมูลการดูแลเรื่องสุขภาพทั้งแม่และเด็ก (เป็นงบประมาณจากเทศบาลตำบลต่อเนื่อง 6 เดือน) ถ้ามีกรณีที่มีปัญหาจะลงเยี่ยมจนคิดว่าเกิดความเข้มแข็งทางจิตใจ แต่ก็มีบางกรณีที่ไม่สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติ เช่น กรณีที่เกี่ยวกับยาเสพติดและเกิดการท้องซ้ำ
ส่วนในเทศบาลค่ายเนินวง ตำบลค่ายเนินวง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของโครงการนำร่องศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กและการพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมให้กับพ่อแม่วัยรุ่นและครอบครัวของพม. จุดเริ่มต้นสำคัญของการให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นที่มีปัญหาคือ การสำรวจข้อมูลและทำกรณีศึกษาเด็กวัยรุ่นทำให้เห็นภาพรวมและความซับซ้อนของปัญหาโดยกระบวนการให้ความช่วยเหลือนั้น ต้องทำงานทั้งกับตัวเด็กและครอบครัว การทำงานจึงไม่ได้จัดการดูแลเฉพาะตัวเด็กที่ท้องเท่านั้น แต่เข้าไปช่วยเหลือครอบครัวด้วย รวมถึงการใช้กระบวนชุมชนเข้าร่วมด้วย ทั้งเครือข่ายผู้นำชุมชน นายกเทศมนตรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยองค์กรท้องถิ่นสามารถใช้แหล่งทรัพยากรของตนเองและประสานเครือข่ายการทำงานจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น กรณีครอบครัวที่ไม่มีที่อยู่อาศัยก็ใช้งบพัฒนาสังคม สร้างบ้านให้เด็กได้มีที่อยู่ที่ปลอดภัย
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
(1) กระบวนการยุติธรรมในคดีเยาวชนและครอบครัว ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบในศาลคดีเยาวชนและครอบครัวต้องมีกระบวนการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการด้านสิทธิเด็กและปัญหาสังคมในมิติเรื่องเพศภาวะ (Gender) เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวได้อย่างมีความละเอียดอ่อน เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาในมิติทางสังคม รวมทั้งนำความเข้าใจดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาแผนแก้ไขและฟื้นฟูเด็กและเยาวชน เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กอย่างคุณภาพและเป็นระบบ
(2) โรงเรียนและระบบการศึกษา ต้องมีกระบวนการในการดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ โดยต้องไม่มีกระบวนการใด ๆ ที่ทำให้เกิดการกระทบต่อสิทธิหรือทำให้เกิดความรู้สึกต่อเด็กหรือวัยรุ่นที่ท้องซึ่งอาจทำให้เด็กไม่สามารถเรียนต่อได้ การคุ้มครองดังกล่าวต้องครอบคลุมทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย รวมถึงต้องมีกระบวนการทำงานกับเด็กผู้ชายคู่กรณีและครอบครัวด้วย
(3)กระบวนการทำงานเรื่องวัยรุ่นท้องต่อในชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องสนับสนุนให้ชุมชนตื่นตัวและมีความพร้อมในการสร้างทีมในลักษณะของสหวิชาชีพให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่นที่ต้องท้องต่อที่อยู่ในชุมชนทุกคน (ไม่เฉพาะคนที่อยู่แบบทางการเท่านั้น) ทีมดังกล่าว อาจเริ่มต้นจากผู้ที่เห็นความสำคัญและขยายไปยังกลุ่มกลไกที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและคุ้มครองเด็ก อาทิ เริ่มครู โรงพยาบาล นักจิตวิทยา นักกฎหมาย ตำรวจ หรือส่วนอื่น ๆ โดยชุมชนควรพัฒนาระบบคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยงของเด็กและวัยรุ่นที่จะเข้าสู่การกระทำความผิด การท้องไม่พร้อม รวมทั้งมีการทำงานสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชายในเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นการเอาเปรียบหรือละเมิดทางเพศ
ดาวน์โหลดไฟล์ข้อเสนอ (pdf)
You must be logged in to post a comment.