Choices meeting # 41

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2559 เวลา 10.00 – 19.30 น.

การประชุมเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม #44

และ งาน Pro-Voice Season 3 การรณรงค์

เพื่อสิทธิเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมำย

 

This slideshow requires JavaScript.

 

หนุนทำแท้งปลอดภัย ถูกกฎหมาย

เป็นทางเลือกสำหรับผู้หญิง

หนุนการทำแท้งที่ปลอดภัย และถูกกฎหมายให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ด้านนักวิชาการระบุ ข้อจำกัดที่ใหญ่ที่สุดคือเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้บริการ ทั้งที่ทำได้ตามกฎหมาย

23 กันยายน เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม (Choices) และองค์กรภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม “Pro – Voice Season ๓: การรณรงค์เพื่อสิทธิการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย” ที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น ๑ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนประมาณ 2๐๐ – 3๐๐ คน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป

นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) กล่าวว่าว่า วันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปี ในหลายประเทศทั่วโลกจัดกิจกรรมเนื่องในวันรณรงค์เพื่อเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย (Global Day of Action for Access to Safe and Legal Abortion) ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนและผู้กำหนดนโยบาย เพื่อคุ้มครองชีวิตผู้หญิงที่ยังต้องเสี่ยงอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยในแต่ละปี การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เป็นสาเหตุการตายของผู้หญิงตั้งครรภ์ทั่วโลกถึงร้อยละ 13 หรือปีละ 47,000 คน

ผู้อำนวยการ สคส.กล่าวถึงการรณรงค์ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ว่า มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เข้าร่วม โดยประเด็นที่มุ่งสื่อสาร ได้แก่ สิทธิในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีการที่ปลอดภัย ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ หรือใช้ยาแทนการขูดมดลูก เพราะขณะนี้ผู้ประสบปัญหาจำนวนมากยังต้องหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจถูกหลอกลวงและเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มที่ฉกฉวยประโยชน์โดยการขายยาทำแท้งปลอม จนต้องเผชิญความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิต

“การรณรงค์เพื่อการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ไม่ใช่การสนับสนุนให้ผู้หญิงไปทำแท้ง แต่เรากำลังบอกว่า สังคมไทยจำเป็นต้องมีทางเลือกอย่างรอบด้าน และเราจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ร่วมกัน ไม่ว่าผู้ที่ท้องไม่พร้อมจะตัดสินใจอย่างไร นั่นย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ และทุกฝ่ายต้องเคารพการตัดสินใจนั้น โดยไม่นำอคติหรือประสบการณ์ของตัวเองมาตีตราตัดสินชีวิตของผู้อื่น” นางสาวจิตติมา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงาน Choices และอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดในการทำแท้งของประเทศไทยคือ สถานบริการของรัฐปฏิเสธที่จะให้บริการ แม้ว่าผู้หญิงจะเข้าข่ายรับบริการได้ตามกฎหมาย เช่น การตั้งครรภ์มีผลต่อสุขภายกายและใจ การถูกล่วงละเมิดทางเพศของเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี การข่มขืนกระทำชำเรา หรือถูกล่อลวงไปค้าบริการ ซึ่งแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่พร้อมที่จะให้บริการ ปฏิเสธการส่งต่อ หรือส่งต่อกันไปมา ทำให้อายุครรภ์ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมสูงขึ้น และเมื่ออายุครรภ์สูง การยุติฯ จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้หญิงได้

“ที่ผู้ให้บริการปฏิเสธ เพราะความกลัวผลพลอยบาปจากความเชื่อของเขา ซึ่งเราไม่ต้องการบังคับให้คนที่ไม่อยากทำแท้งมาให้บริการ แต่ตอนนี้เรามีเครือข่ายแพทย์ R-SA ที่พยายามจัดระบบส่งต่อที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย แม้จะยังมีไม่ครบทุกจังหวัด แต่มีกระจายทั่วทุกภาค ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเดินเข้าสู่การทำให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายแล้ว” รศ.ดร.กฤตยา กล่าว

ผู้ประสานงาน ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) มองว่าผู้ที่ท้องไม่พร้อมเป็นผู้ป่วย และถ้าบริการทำแท้งนั้นมีประโยชน์กับชีวิตผู้หญิง เขาก็จะให้บริการ ซึ่งหากเราพยายามทำความเข้าใจกับสาธารณะว่าการทำแท้งมีได้หลายมุมมอง หรือทำให้คนในสังคมรับรู้ได้ทั่ว จะไม่ทำให้เกิดปัญหาการตกเลือดจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอีกเลย เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมาก ถ้าทำให้ถูกต้อง การทำแท้งนั้นจะปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

“ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่พร้อม แต่ทำไมไม่ทำ ยังปล่อยให้มีคนเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งถ้าเราเปิดกว้างเรื่องนี้ ด้วยการให้ความรู้ ข้อมูล ให้เขาเข้าถึงบริการคุมกำเนิด ขยายข้อกฎหมายในการทำแท้ง และจัดระบบบริการได้ จะช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวข้องลงอย่างมาก ทั้งอัตราการทำแท้ง อัตราการตายและการพิการจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย เพราะตราบใดที่ยังมีผู้หญิงท้อง ก็มีผู้หญิงอยากทำแท้งอยู่ แต่จะลดน้อยลง” รศ.ดร.กฤตยา กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานมีการเดินขบวนรณรงค์บริเวณหน้าหอศิลปฯ และจุดเทียนรำลึกให้กับผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยด้วย โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ เพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย และขับเคลื่อนให้อยู่ในบริการสุขภาพพื้นฐานสำหรับผู้หญิง

ดาวน์โหลดไฟล์