จี้ใช้ถุงยางแก้ปัญหาเซ็กซ์ขาโจ๋
“ถุงยางอนามัย” กลายเป็นปัญหาระดับชาติ กรมควบคุมโรค ดัน “ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ” หวังแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม-โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลังพบวัยรุ่นมีเซ็กซ์เร็วขึ้น แต่ใช้ถุงยางเพียงร้อยละ 30 ผอ. ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ รพ.รามาฯ ชี้ประชาชนต้องปรับทัศนคติการใช้ถุงยางอนามัย เพราะ ส่วนใหญ่คนคิดว่าทำให้ “เสียว” และ “สุขสม” น้อยลง เล็งเสนอเพิ่ม “สารหล่อลื่น” เพิ่มความสุขการมีเซ็กซ์
ปัญหาความเข้าใจในการใช้ถุงยางอนามัย ที่กลายเป็นเรื่องระดับชาติ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับในการใช้ อ้างเป็นการทำลายความสุขสมขณะมีเพศสัมพันธ์ จนต้องมีการออกมารณรงค์สร้างความเข้าใจใหม่นั้น ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเรื่อง “การจัดทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ” ว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบประชาชนเป็นโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เช่น หนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส และเอชไอวี รวมถึงการท้องไม่พร้อม ปัญหาทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น แต่ใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 30-40 เท่านั้น จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ง่ายและใช้ถุงยางเป็นประจำ ถือเป็นยุทธศาสตร์ต้นแบบในระดับเอเชียและระดับโลก เพราะยังไม่เคยมีประเทศใดมียุทธศาสตร์การใช้ถุงยางอนามัยอย่างชัดเจน
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเริ่มใช้ในปี 2558-2562 ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการยอมรับ ลดอคติเกี่ยวกับถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น 2.การส่งเสริมการเข้าถึง การใช้ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น 3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการควบคุมคุณภาพถุงยางอนามัย 4.การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 5.การติดตามและประเมินผล การส่งเสริมการดำเนินการใช้ถุงยางอนามัย แต่การรณรงค์ได้เริ่มดำเนินการก่อนหน้านี้แล้ว โดยได้มีการส่งเสริมความรู้ สร้างเสริมทักษะชีวิตให้กับเด็กนักเรียน
จัดตั้งจุดบริการถุงยางอนามัยในสถานที่ต่างๆ จัดจุดบริการให้คำปรึกษา รักษาโรคทั้งแบบตั้งรับในสถานพยาบาล และเชิงรุกลงไปยังพื้นที่หมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่คือทัศนคติของคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครอง ที่แม้จะเห็นด้วยว่าถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องกันการท้องไม่พร้อมได้กว่าร้อยละ 70 แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ตั้งจุดบริการถุงยางอนามัยในโรงเรียน เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น ถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเวลานี้วัยรุ่นเข้าถึงการมีเพศสัมพันธ์เร็วอยู่แล้ว จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
ด้าน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ประชาชนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการใช้ถุงยางอนามัย โดยเชื่อว่าส่งผลกระทบ ต่อความรู้สึกสุขสมระหว่างมีเพศสัมพันธ์ แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของหญิงบริการทางเพศพบว่า นอกจากถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ ป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังช่วยให้มีความสุขในการร่วมเพศมากขึ้น แต่ต้องใช้สารหล่อลื่นเข้ามาช่วย ดังนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าว มาเป็นแนวคิดหนึ่งในการผลักดันให้มีถุงยางอนามัย 2 ระดับ คือ ระดับที่มีสารหล่อลื่นตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมต่อ 1 ชิ้น และ 2.ประเภทที่เพิ่มปริมาณสารหล่อลื่นให้มากขึ้นกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งอาจจะมีราคาสูงขึ้น แต่อย่างน้อยจะช่วยให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้นโดยไม่ไปลดความสุขสมระหว่างมีเพศสัมพันธ์
น.ส.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) กล่าวว่า อัตราการเกิดของประเทศไทยสวนทางกับทั่วโลก เพราะมีอัตราการเกิดลดลงจาก 1.2 ล้านคนต่อปีเหลือเพียง 8 แสนคนต่อปี และคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าอัตราการเกิดจะลดลงเหลือเพียง 6 แสนคนต่อปี จึงเป็นห่วงเรื่องคุณภาพของเด็กที่จะเกิดมาเพราะปัจจุบันพบว่ามีเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นสูงถึง 1.3 แสนคน ดังนั้นยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้
ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557
You must log in to post a comment.