แม้ว่าปัจจุบัน สังคมโลกจะก้าวไปสู่ยุคเสรีนิยมแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะเห็นประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกามอบรางวัลที่มีเกียรติสูงสุดแก่นักรณรงค์เพื่อสิทธิทำแท้ง ผลการลงคะแนนเสียงของรัฐสภาอังกฤษที่ลดอายุครรภ์ในการทำแท้งลงก็แสดงให้เห็นว่าอังกฤษเองยังคงมีข้อจำกัดในการยอมรับว่าการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศแคนาควรได้รับการชื่นชมเมื่อตัดสินใจมอบรางวัล Order of Canada อันทรงเกียรติแก่นักรณรงค์เพื่อสิทธิการทำแท้ง แม้ว่าจะต้องเจอกับการต่อต้านมากมาย นับเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานของแพทย์และนักรณรงค์เพื่อทางเลือกของผู้หญิงในศตวรรษที่ 20 อย่างเป็นทางการเช่นนี้ และการมอบรางวัล Order of Canada ที่มักนิยมให้กับผู้ที่ทำงานรับใช้สังคม แก่นักรณรงค์เพื่อทางเลือกรุ่นบุกเบิกนี้ เท่ากับว่าแคนาดาได้ประกาศอย่างกล้าหาญว่า การทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายเป็นงานที่ช่วยเหลือสังคมโดยรวม
ผู้ได้รับรางวัลคือ น.พ. Morgentaler ซึ่งเป็นชาวโปแลนด์ ที่มีชีวิตรอดจากการสังหารหมู่ของนาซีเยอรมัน และอพยพมาอยู่ที่แคนาดา เขาเปิดคลินิกทำแท้งในมอนทรีลในปี 2512 ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หลังจากถูกจับและต้องต่อสู้คดีในศาลหลายครั้งเป็นเวลาหลายสิบปี ต้องเสี่ยงต่อสูญเสียอาชีพและชีวิตครอบครัวเพื่อต่อสู้ให้มีการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย
น.พ. Morgentaler เอง ได้แสดงความประหลาดใจที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลแคนาดาไม่ได้แสดงปฏิกิริยาที่รุนแรงนัก แต่ก็เริ่มมีการต่อต้านเกิดขึ้นแล้ว หนังสือพิมพ์ National Post ที่มีจุดยืนเชิงอนุรักษ์นิยมวิจารณ์ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลขัดแย้งกับสามัญสำนึกของชาวแคนาดาจำนวนมาก ขณะเดียวกันกลุ่มคาธอลิกก็ได้มอบรางวัล Order of Canada ของตนเองเพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาล
ปัญหาเกี่ยวกับรางวัลนี้ยังคงมีอยู่ ขณะที่น.พ. Morgentaler กลายเป็นบุคคลสาธารณะในแคนาดา แต่องค์กรที่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมองว่ารางวัลนี้ละเลยผู้หญิงและผู้ชายธรรมดาๆ ที่ช่วยเหลือผู้หญิงที่เผชิญกับการตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม หรือนักรณรงค์นับไม่ถ้วนที่ไม่เคยได้รับความเคารพจากหมอผู้ชาย รวมทั้ง ผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่นๆ โดยการทำแท้ง ที่เรื่องราวไม่ได้ถูกนำมาสร้างภาพยนต์อย่างวีรา เดรค (Vera Drakes)
แต่ในกรณีนี้ ต้องยอมรับว่า น.พ. Morgentaler ได้เสียสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้เกิดการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย คลินิกของเขามักถูกบุกค้น คลินิกในโตรอนโตถูกปาระเบิด และต้องเข้าไปอยู่ในคุกเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากต่อสู้คดีในศาลทุกชั้นหลายครั้ง ซึ่งในที่สุดการสู้คดีก็นำไปสู่การยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้ง
รางวัล Order of Canada จะมอบให้แก่บุคคลที่เป็นตัวอย่างของสโลแกนที่ว่า “คนที่ปราถนาสังคมที่ดีกว่าปัจจุบัน” ส่วนใหญ่นักรณรงค์สนับสนุนทางเลือกมักใช้แนวคิด “ทางเลือกของปัจเจก” หรือ สิทธิส่วนบุคคลของผู้หญิงมาใช้ในการรณรงค์ แต่ในกรณีการมอบรางวัลให้น.พ. Morgentaler นั้น น่าสนใจว่าแนวคิดการเสียสละเพื่อสังคมที่เป็นหลักการของรางวัล Order of Canada ได้มุ่งประเด็นว่าการต่อสู้เพื่อกระบวนการที่ถูกกฎหมายและปลอดภัยได้ช่วยชีวิตของผู้หญิงแคนาดานับพันนับหมื่นคน และเป็นบริการที่สังคมโดยรวมจะได้ประโยชน์
แม้ว่านักสตรีนิยมบางคนจะไม่เห็นด้วยในบางแง่มุม แต่การมอบรางวัลให้แก่ น.พ. Morgentaler นับเป็นเรื่องที่กล้าหาญ เพราะเป็นการชื่นชมผู้ชายที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิง แน่นอนว่า ยังคงมีความกังวลว่าจะเป็นการผลิตซ้ำอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ภายในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่ งานของผู้หญิงไม่ได้รับคุณค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้ชายทำ แม้ว่ารางวัลนี้อาจมีแง่มุมลบในบางด้าน แต่การยกย่องน.พ. Morgentaler ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิทำแท้ง ก็เป็นการเน้นย้ำว่าสิทธิที่จะเลือกไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น และสตรีนิยมไม่ได้หมายถึงการต่อต้านผู้ชายหรือประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับผู้ชาย แต่แสดงว่าสิทธิผู้หญิงคือสิทธิมนุษยชน และมีผลต่อคนทุกคน
แปลและเรียบเรียงจาก Women’s rights are human rights, Canada’s bold decision to award an abortion
activist should be applauded ในหนังสือพิมพ์ The Guardian ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2551
You must log in to post a comment.