ประท้วงการทำแท้งตัวอ่อนเพศหญิง

กลุ่มผู้หญิงกว่าร้อยคนในรัฐโอริสสา ประเทศอินเดียประท้วงการทำแท้งตัวอ่อนเพศหญิง และการฆ่าทารกเพศหญิงหลังจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพบกะโหลกของตัวอ่อนและทารกเพศหญิงในบ่อร้าง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น ตำรวจยังพบโอ่งดิน 14 ใบในทุ่งนาใกล้กับเมืองคัททาก (Cuttack) ซึ่งเชื่อว่ามีซากตัวอ่อนบรรจุอยู่

กลุ่มผู้ประท้วงเดินขบวนผ่านเมืองบูบาเนชวาร์ (Bhubaneswar) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐโอริสสาพร้อมถือป้ายที่มีข้อความว่า “แขวนคอฆาตกร” และ “ไว้ชีวิตผู้หญิง” และเรียกร้องให้รัฐบาล “ควบคุม” คลินิกเอกชนที่ให้บริการตรวจดูเพศตัวอ่อน เพื่อทำแท้งตัวอ่อนเพศหญิง

ทั้งนี้ รายงานประจำเดือนธันวาคม 2549 ของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่าในอินเดีย จำนวนทารกเพศหญิงที่คลอดออกมาในแต่ละวันน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 7,000 คน และน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 10 ล้านคนตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวเลขจากการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดของอินเดียชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2534 – 2544

อัตราส่วนระหว่างทารกเพศหญิงและเพศชายลดลงจาก 947 : 1,000 คน เป็น 927 : 1,000

ในการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลอินเดียได้ออกกฎหมายว่าด้วยการระบุเพศตัวอ่อน เมื่อปี 2537 โดยกฎหมายฉบับนี้ห้ามไม่ให้ใช้เทคโนโลยี เช่น อัลตร้าซาวด์และโซโนแกรม ในการตรวจดูเพศของตัวอ่อนประกอบการตัดสินใจทำแท้ง นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามโฆษณาให้บริการตรวจดูเพศของตัวอ่อน และการกำหนดเพศของตัวอ่อนอีกด้วย และเมื่อเดือนที่ผ่านมา นางเรณุกา เชาวหุรี รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาผู้หญิงและเด็กแถลงว่ารัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณาให้มีการขึ้นทะเบียนการตั้งครรภ์และการทำแท้งทุกกรณีทั่วประเทศ เพื่อขจัดการทำแท้งแบบเลือกเพศ และการฆ่าทารก โดยจะให้ศูนย์บริการสุขภาพ โรงพยาบาล และศูนย์ผดุงครรภ์ทั้งของรัฐและเอกชนรับผิดชอบในการบันทึกข้อมูลการตั้งครรภ์และการทำแท้ง นอกจากนี้ รัฐบาลจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำในเขตชนบทเพื่อดูแลหญิงมีครรภ์

แปลสรุปและเรียบเรียงจาก รายงานข่าวประจำวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2550 ของมูลนิธิ Kaiser Family (http://www.kaisernetwork.org)