“ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย: การทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ!”
วันที่ 12 มีนาคม 63 โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ดำเนินงานโดย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม (Choices Network) และเครือข่ายอาสา R-SA (Referral system for Safe Abortion) ร่วมกับ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดเวทีเสวนาเชิงนโยบายเรื่อง “ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย: การทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ!” ขึ้น
การเสวนาครั้งนี้ต้องการสร้างความเข้าใจต่อกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ และร่วมวิเคราะห์สถานการณ์และแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประกอบด้วย นักวิชาการ นักกฎหมายซึ่งเป็นตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เครือข่าย RSA และเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จำนวน 60 คน
สาระสำคัญของการประชุมโดยสรุปดังนี้
สภาพปัญหาและสถานการณ์เกี่ยวกับกฎหมายเรื่องทำแท้งในประเทศไทย ประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการทำความผิดเกี่ยวกับการแท้งนั้น ถูกตราขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ซึ่งยุคนั้นเทคโนโลยียังล้าสมัย ทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องที่อันตราย ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก แต่แพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าทำ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตีความว่ากระทำความผิดกลายเป็นอาชญากร ทั้งนี้ข้อบังคับแพทยสภาก็มีอำนาจศักดิ์และสิทธิทางกฎหมายน้อยกว่าประมวลกฎหมายอาญาจึงอาจไม่สามารถคุ้มครองแพทย์ได้
ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งยังมีความยากลำบากต่อการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย และกลายเป็นผู้กระทำความผิด การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อประเด็นดังกล่าวสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้ผลการวินิจฉัยตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า มาตรา 301 ขัดต่อ รัฐธรรมนูญมาตรา 27 และหากไม่มีการแก้ไขจะถูกยกเลิก ส่วน มาตรา 305 ที่ขัดกับมาตรา 28 ต้องมีการปรับปรุงนั้น ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้ควรต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้อง
ทั้งนี้นักวิชาการด้านกฎหมาย ประเมินว่า ทั้ง 2 มาตราจะมีการแก้ไข โดยเกิดร่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 (ใหม่) และมาตรา 305 เดิมที่ปรับปรุง ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ 3 กระทรวงหลักร่วมกันพิจารณาแก้ไข ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความสนใจที่จะปรับปรุงและเสนอร่างกฎหมายนี้ด้วย
ผลการประชุมสามารสรุปข้อเสนอแนะต่อแนวทางการแก้ไขกฎหมายทำแท้งต่อกลุ่มขับเคลื่อนภาคประชาสังคม (1) ภาคประชาสังคม ควรหาข้อสรุปร่วมกันในการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่ (2) ใน มาตรา 305 ควรทบทวนเรื่องขยายเงื่อนไขการให้บริการของแพทย์ (3) หาข้อสรุปความสมดุลเกี่ยวอายุครรภ์ที่ให้สิทธิผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งและการคุ้มครองสิทธิในครรภ์ (4) กระบวนการแก้ไขกฎหมายควรไห้แพทย์และผู้หญิงมีบทบาทนำในการกำหนดเนื้อหาที่จะแก้ไข โดยแพทย์ต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้หญิง และนักกฎหมายเป็นบทบาทสนับสนุน (5) ควรพิจารณาทบทวนสาระของกฎหมายทำแท้งทั้งหมด ไม่เฉพาะใน มาตรา 301 และ 305 เท่านั้น (6) การให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อเท็จจริงและการอ้างอิงข้อมูลวิชาการเพื่อความหนักแน่น (7) ผลักดันให้รัฐ คณะกรรมการต่าง ๆ เปิดให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย
ดาวน์โหลดไฟล์
- สรุปสาระสำคัญของการเสวนาเชิงนโยบายเรื่อง “ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย!: การทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ!”
- กำหนดการประชุม
You must be logged in to post a comment.