การพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือจัดบริการและคุ้มครองสิทธิฯ

การประชุมเชิงปฏิบัติการ

“การสรุปบทเรียน

การพัฒนาบริการและคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น

และผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กรณีท้องต่อ

                   การประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนการพัฒนาบริการและคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กรณีท้องต่อ จัดโดยโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ณ ห้องปิ่นเกล้า ชั้น 2 โรงแรมเอสดี อเวนิว ถ.บรมราชชนนี กรุงเทพฯ เวลา 13.30 – 16.30 น. ผู้เข้าร่วมการประชุม ประมาณ 60 คน ประกอบด้วย (1) ตัวแทนจากหน่วยงานในพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าฝ่ายงานสังคมสงเคราะห์ และฝ่ายศิลปะบำบัด บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี เทศบาลตำบลค่ายเนินวงจังหวัดจันทบุรี ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่ โดยโรงพยาบาลปทุมธานีนั้นติดภารกิจ (2) บริการสายด่วน 1663 ซึ่งเป็นภาคีใกล้ชิดในการร่วมดำเนินงาน (3) หน่วยงานที่เข้ามามีส่วนช่วยเหลืออันเนื่องจากการทำงานกองทุนช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงและท้องไม่พร้อม ได้แก่ ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลไพศาลี และบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์

                   คณะทำงานฯ ได้เชิญนางสาวอชิมา เกิดกล้า นักวิชาการจากกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันหลักสูตรการปรึกษาทางเลือกและการฟื้นฟูพลังและศักยภาพผู้หญิงเข้าสู่ระบบงบประมาณของกองบริหารการสาธารณสุข มาเป็นผู้ดำเนินการประชุม และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ท่านได้แก่ นางสาวศุภอาภา องค์สกุล นักวิชาการ และอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการดูแลผู้หญิงและเด็กจากท้องไม่พร้อมในองค์กรสหทัยมูลนิธิมาอย่างยาวนาน และนางสาวสุภัทรา บัวเพิ่ม นักวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะองค์กรสนับสนุน มาร่วมให้ความคิดเห็นต่อผลการดำเนินโครงการ โดยบทเรียนจากประสบการณ์หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ (นำร่อง)

สรุปสาระสำคัญจากการอภิปรายได้ดังนี้

        • บริการสายด่วน  จากการทำงานปรึกษาสายด่วน 1663 ต่อกรณีท้องต่อ ต้องมีความชัดเจนในเส้นทางการช่วยเหลือและบริการที่มีแต่ละช่วงจังหวะชีวิต การประสานส่งต่อกับหน่วยบริการนั้น ๆ ต้องเชื่อมั่นได้ในเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพของหน่วยบริการ
        • หน่วยบริการบ้านพัก  จากประสบการณ์ของบ้านพักเอกชน และภาครัฐ บทเรียนที่สำคัญได้แก่ หนึ่ง) บริการในบ้านพักต้องมีบุคลากร นักจิตวิทยา นักศิลปะบำบัด ที่มีความเชี่ยวชาญ และโปรแกรมพัฒนาผู้หญิงเพื่อช่วยวางแผน กำหนดเป้าหมายชีวิต โปรแกรมดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ทำได้ตั้งแต่เริ่มสร้างความคุ้นเคยในกระบวนการคัดกรอง สอง) บริการของบ้านพักต้องมีเครือข่ายในการเชื่อมต่อบริการที่ใกล้ชิดของตัวเอง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาลเครือข่าย จะทำให้หน่วยบริการของบ้านพักส่งต่อได้โดยสะดวก คล่องตัว สาม) มีเครือข่ายสหวิชาชีพในระดับจังหวัดที่ต่อบริการกับบ้านพัก มีกลไกของรัฐและสวัสดิการสุขภาพทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดจะทำให้ทำงานรับมือกับ case ซับซ้อนได้
        • โรงพยาบาล  บุคลากรต้องมีความละเอียดอ่อนอยู่ในการทำงาน มีการเชื่อมงานระหว่างบริการฝากครรภ์ คลินิกวัยรุ่น และศูนย์พึ่งได้ เป็นอีกพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกระบวนการสหวิชาชีพในการช่วยเหลือ
        • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลถือเป็นหน่วยระดับชุมชน เป็นหน่วยปฏิบัติการตามนโยบายต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของชุมชน พบว่า การทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากนโยบายจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มาสู่ท้องถิ่นมีรูปธรรมในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน

ดาวน์โหลดเอกสาร