ผลของกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ในสถานการณ์โควิดกับปัญหาที่ผู้หญิงท้องไม่พร้อมต้องเผชิญ
กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่: ผลกระทบและข้อท้าทาย
เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ร่วมกับสมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา R-SA จัดการประชุมเพื่อสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ครั้งที่ 52 เรื่องผลของกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ในสถานการณ์โควิดกับปัญหาที่ผู้หญิงท้องไม่พร้อมต้องเผชิญขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30 – 16.00 น. โดยประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 70 คนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสถาบันการศึกษา
ในการประชุม รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประชุมได้นำเสนอถึงผลการแก้ไขกฎหมายการทำแท้งฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อ 6 ก.พ. 2564 โดยสรุปดังนี้
การประชุมเครือข่ายฯครั้งนี้ เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ว่า การแก้กฎหมายการทำแท้งในประเทศไทยที่มีความพยายามมาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2525 ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยที่ตนเองได้ศึกษาพบว่า มีความพยายามมากกว่า 10 ครั้ง ทำให้เกิดความสำเร็จในปีนี้ การขับเคลื่อนเพื่อแก้กฎหมายทำแท้งกระทำโดยสองเครือข่าย คือ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม (Choices) และ เครือข่ายอาสา (RSA)
สรุปการขับเคลื่อนเพื่อแก้กฎหมายทำแท้งโดยสองเครือข่าย
17 กุมภาพันธ์ 2561 ตำรวจเข้าตรวจค้นคลินิกแพทย์หญิงศรีสมัย เชื้อชาติเนื่องจากพบซากทารกในที่ทิ้งขยะ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแพทย์หญิงศรีสมัยความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 302 และความผิดตามมาตรา 301 กับผู้หญิงที่เข้ารับบริการที่ตรวจค้นและติดตามตัวได้จากเวชระเบียนคนไข้จำนวน 5 คน
8 มีนาคม 2561 เครือข่ายChoices และ RSA ใช้สิทธิ์ตามมาตรา 46 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ส่งเรื่องร้องเรียนความชอบด้วยกฎหมายทำแท้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ
2 พฤษภาคม 2561 สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินมีจดหมายตอบความเห็นว่ากฎหมายมีปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ยังไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
26 กันยายน 2561 เครือข่ายChoices และ RSA ในฐานะผู้แทนของผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามาตรา 301 และ 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญาว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และทำเรื่องถอนคำร้องหลังจากนั้นเพราะเจ้าหน้าที่แนะนำว่าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
10 ตุลาคม 2561 เครือข่ายChoices และ RSA ทำหนังสือยื่นคำร้องอีกครั้งในนามผู้ได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายจากกฎหมายทำแท้งคือแพทย์หญิงศรีสมัย เชื้อชาติ
13 พฤศจิกายน 2561 ได้รับหนังสือตอบรับจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ลงนามโดย นายจรัล ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
26 กันยายน 2562 เครือข่ายChoices และ RSA ยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทวงถามความก้าวหน้าในการวินิจฉัย
19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากตามคำวินิจฉัยเลขที่ 4/2563 ชี้ว่าประมวลอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้การที่หญิงทำแท้งลูกเป็นความผิดอาญา ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วยเหตุเป็นสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายในมาตรา 28 กำหนดเวลาให้แก้ไขภายใน 360 วัน และเห็นด้วยว่ามาตรา 305 เป็นมาตราที่ล้าสมัย ควรแก้ด้วย
7 กุมภาพันธ์ 2564 กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจาเล่มที่ 138 ตอนที่ 10 ก หน้า 1-3 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
เนื้อหาของกฎหมายทำแท้งที่ผ่านมติ: โดยสรุป
-
- ผู้หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งเอง หรือให้แพทย์ทำแท้งได้ไม่มีความผิด ผู้หญิงอายุครรภ์ใดก็ได้ ถ้าการท้องมีผลต่อสุขภาพกายและจิตทำแท้งได้ ตามมาตรา 305 (1)
- ผู้หญิงตั้งครรภ์และผลปรากฏว่า มีทารกในครรภ์อาจมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพร้ายแรง สามารถทำแท้งได้ตามมาตรา 305 (2)
- ผู้หญิงซึ่งตั้งครรภ์เพราะถูกกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืน สามารถทำแท้งได้ตาม มาตรา 305 (3)
- ผู้หญิงที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ที่ได้รับคำปรึกษาทางเลือกจากแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามที่กฎหมายกำหนดทำแท้งได้ตามมาตรา 305 (5)
ข้อสังเกตและข้อท้าทาย
-
- มาตรา 305 (5) บังคับให้ต้องผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาทางเลือกก่อนที่จะทำแท้ง เขาใช้คำว่า “และ” เท่ากับว่า “ต้องให้ผู้หญิงที่ได้รับคำปรึกษาทางเลือกจากแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพอื่น” ซึ่งกำลังจะติดกับดัก ต้องไปเปิดดูว่าใครคือผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ซึ่งค่อนข้างตีความเคร่งครัดตามกฎหมาย ต้องมีสมาคมวิชาชีพ ถ้าตีความผิด จะทำให้กระบวนการปรึกษาทางเลือกมีขั้นตอนยุ่งยาก ยาวนาน ต้องมีการประกาศของกระทรวง ซึ่งยังไม่ได้ประกาศใช้
- มาตรา 301 ยังลงโทษผู้หญิงที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์และทำแท้งที่ไม่ใช่ให้หมอทำ ยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ในขณะที่ข้อเสนอของเครือข่ายฯ คือ ให้ยกเลิกมาตรา 301 ที่ลงโทษผู้หญิง
- การทำแท้งอายุครรภ์มากกว่า 12-20 สัปดาห์ ต้องทำแท้งโดยแพทย์เท่านั้น
- นักกฎหมายมองว่า กฎหมายใหม่ที่ออกมาเป็นการทำแท้งตามคำขอของผู้หญิง On request จริงหรือไม่ ? นักกฎหมายคิดว่ากฎหมายนี้เป็นแบบประเทศเวียดนาม On request ?? ถ้าผู้บริการไม่ให้เกิดอะไรขึ้น? ต้องไปศึกษากฎหมายอื่นด้วยว่า On request คืออะไร?
ประเด็นที่สำคัญคือ กฎหมายนี้จะช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยได้จริงหรือ??
ดาวน์โหลดไฟล์