สิทธิการทำแท้งถอยหลังในอเมริกา สิทธิการทำแท้งไทยก้าวหน้าแต่ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการ?
สิทธิการทำแท้งถอยหลังในอเมริกา สิทธิการทำแท้งไทยก้าวหน้าแต่ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการ?
วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และโครงการ ติดตามผลระบบบริการยุติการตั้งครรภ์และพัฒนานวัตกรรมบริการนวัตวิถีในบริบทกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่ จัดประชุมเพื่อสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมครั้งที่ 54 เรื่อง “สิทธิการทำแท้งถอยหลังในอเมริกา สิทธิการทำแท้งไทยก้าวหน้าแต่ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการ” ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้สนใจลงทะเบียนร่วมกิจกรรมผ่านระบบ zoom จำนวน 40 คน และมีจำนวนเข้าถึงผ่านเพจเครือข่ายท้องไม่พร้อมตั้งแต่ 21 กรกฎาคม – 14 สิงหาคม จำนวน 2,507 view
สรุปสาระสำคัญจากการประชุม
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของ พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งฉบับใหม่ที่มีการประกาศและบังคับใช้ตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 2565
“เถียงกันเรื่องแท้ง”: จากการเมืองเรื่องสิทธิการทำแท้งในสหรัฐอเมริกาสู่โลกและสังคมไทย
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การที่ศาลสูงในสหรัฐอเมริกาตัดสินให้สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์เป็นอำนาจของแต่ละรัฐในการกำหนดนโยบายเรื่องนี้เอง ส่งผลกระทบให้แต่ละรัฐตอบสนองเรื่องนี้ต่างกัน ในรัฐที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิทำแท้งพบว่ามีการปิดบริการ แม้ในกรณีที่ถูกข่มขืนก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคและเงื่อนไขอย่างมาก การต่อสู้ก็ยังไม่ได้ยุติลง ยังมีการเคลื่อนไหวประท้วงด้วยกันทั้งสองฝ่าย
กฎหมายกับสิทธิการทำแท้ง: คุ้มครองหรือจำกัด?
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศโดยสรุป เดิมกฎหมายทำแท้งในไทย ผู้หญิงไม่มีสิทธิและทางเลือกที่จะทำแท้งเลย การทำแท้งเป็นความผิดทางอาญาทั้งสิ้น จนกระทั้งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นที่พยายามหาสมดุลโดยใช้เวลาในการตั้งครรภ์มากำหนดในการคุ้มครองสิทธิตัวอ่อนในครรภ์และคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้หญิง ปัจจุบัน กฎหมายไทยรับรองสิทธิในชีวิตและร่างกายของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่อเมริกาในปัจจุบันถือว่า การทำแท้งเป็นกฎหมายทั่วไปที่แต่ละรัฐจะพิจารณาเอง อย่างไรก็ตาม กฎหมายของไทยก็ยังไม่ได้มีการับรองชัดแจ้งว่าเป็นสิทธิการทำแท้งของผู้หญิง เพราะรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายเท่านั้น และในกฎหมายอาญามีการลงโทษถือว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพที่เกินจำเป็น และการปรากฏอยู่ในกฎหมายอาญาถือว่า ไม่ได้ให้สิทธิอย่างชัดเจนจึงต้องมีการเรียกร้องสิทธิว่าจะทำแท้งได้มาก/น้อยอย่างไร
ทำอย่างไรให้ RSA ลงหลักปักฐานมั่นคงในกระทรวงสาธารณสุข หลังการแก้กฎหมายทำแท้ง
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อดีตอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึง การสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มแพทย์อาสาและเพื่อขยายการให้บริการยุติฯ ว่า จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณ การเสริมสร้างแรงบันดาลใจและการให้รางวัลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าของการให้บริการ จำเป็นต้องพัฒนาแนวคิดของนักศึกษาแพทย์ในระบบการศึกษาแพทย์ ให้มีการเก็บจำนวนเคสด้วยการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ฯ ควรผลักดันให้เป็นนโยบายระดับชาติ เป็นมติ ครม. และสร้างกระแสเชิงบวกต่อการจัดบริการ
อุปสรรคและความเป็นไปได้ในการนำระบบโทรเวช (Telemedicine) มาใช้เพื่อให้การยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย
ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ กล่าวถึงการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่อาจจะไม่สามารถบังคับให้แพทย์ทุกคนมาให้บริการได้ และความตั้งใจต่อการพัฒนาบริการ Telemedicine เพราะเป็นประโยชน์สอดคล้องกับบริบทในสังคมไทยเพื่อการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์
ที่ประชุมได้สรุปถึงความสำคัญของการสร้าง Plat form เชื่อมการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ กับผู้ประสบปัญหา สำคัญที่สุดประชาชนต้องติดตามและเรียกร้องให้เกิดการพัฒนาบริการเพราะไม่สามารถรอรับสิทธิจากรัฐได้
ดาวน์โหลดไฟล์
You must be logged in to post a comment.