การประชุมเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ครั้งที่ 53

14 เดือนของการใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

 

14 เดือนของการใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

วันที่ 8 เมษายน 2565 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมจัดประชุมเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมครั้งที่ 53 เพื่อระดมความคิดเห็นในกลุ่มองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งฉบับใหม่ เรื่อง “14 เดือนของการใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ เกิดอะไรขึ้นบ้าง?” โดยระบบ zoom meeting เวลา 13.30 – 16.00 น.

การจัดประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นประมาณ 80 คน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯกล่าวเปิดการประชุมและชี้แจงการดำเนินโครงการติดตามผลระบบบริการยุติการตั้งครรภ์และพัฒนานวัตกรรมบริการนวัตวิถี (New Normal) ในบริบทกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือนให้ที่ประชุมรับทราบ จากนั้นเป็นการอภิปรายเรื่อง ผลของการใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ในระยะ 14 เดือนที่ผ่านมา

สรุปสาระสำคัญจากการประชุม

เริ่มต้นจาก นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ของการประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 305(5) โดยสรุปคือ คณะกรรมการยกร่างประกาศกระทรวงฯ ได้ยกร่างและดำเนินกระบวนการประชาพิจารณ์ ก่อนส่งร่างประกาศกระทรวงฯ ต่อกองกฎหมาย สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม ทางกองกฎหมายฯ มีความเห็นว่า ร่างดังกล่าวมีขอบเขตเกินกรอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305(5) ที่แก้ไข และขอให้ปรับปรุงให้สอดคล้อง สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ จึงได้มีการจัดหารือเพื่อสรุปแนวทางร่วมกันระหว่างกองกฎหมาย สำนักปลัดกระทรวงฯ ตัวแทนในคณะกรรมการกฤษฎีกา และที่ปรึกษาคณะกรรมการยกร่างฯ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณายกร่างฯ อีกครั้งร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติสำหรับการบริการที่สอดคล้องต่อไป

คุณสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เสนอถึงการดำเนินงานให้คำปรึกษาสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ว่าหลังการแก้กฎหมายทำแท้ง บริการในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมายังพบว่าผู้หญิงที่ต้องการรับบริการยุติการตั้งครรภ์ถูกปฏิเสธจากการไปขอรับบริการจากโรงพยาบาลและไม่ส่งต่อไปหน่วยที่ให้บริการ จำนวน 116 ราย เป็นช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 37 ราย และอายุมากกว่า 20 ปีจำนวน 79 ราย จากจำนวน 21,397 ราย ช่องว่างที่สำคัญหลังแก้กฎหมายคือ บริการยุติการตั้งครรภ์ยังไม่เป็นระบบบริการปกติในสถานพยาบาล และไม่ว่าการช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องต่อหรือต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็ยังไม่ครอบคลุมต่อปัญหาและพื้นที่ ยังมีวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเข้าไม่ถึงบริการและถูกละเมิดสิทธิ และช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนยังมีไม่มากพอและไม่เป็นมิตร

คุณสุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง กล่าวว่า ในกลุ่มวัยรุ่นแม้ว่าจะกฎหมายการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นปี 2559 และกฎกระทรวงสาธารณสุขที่คุ้มครองสิทธิวัยรุ่นอายุมากกว่า 15 ปีสามารถตัดสินใจเลือกยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องมีผ่านผู้ปกครอง แต่ก็มีโรงพยาบาลให้บริการอยู่น้อยมาก หลังการแก้ให้ทำแท้งถูกกฎหมายได้ อย่างน้อยภายใน 12 สัปดาห์ไม่มีความผิด รัฐควรมีการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ต่อหน่วยงานและประชาชนทั่วไปเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเปิดเผยข้อมูลหน่วยบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ให้ประชาชนรับทราบและเข้าถึงได้ รวมทั้งให้สถานพยาบาลต้องส่งต่อหากไม่ต้องการให้บริการ และรัฐต้องมีงบประมาณสนับสนุนเรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้จัดบริการเรื่องนี้ เป็นต้น

 

ดาวน์โหลดไฟล์