การประชุมเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ครั้งที่ 51

9ถึงเวลาถอดบทเรียนเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ (Choices)

และเครือข่ายอาสา (RSA)

วันที่ 24 ส.ค. 2563 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม จัดการประชุมเครือข่ายฯ ครั้งที่ 51 “ถึงเวลาถอดบทเรียนเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ และเครือข่ายอาสา” ณ ห้องปิ่นเกล้า ชั้น 3 โรงแรมเอสดี อเวนิว กรุงเทพฯ ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 6 ภายใต้โครงการนี้

การจัดประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นประมาณ 80 คน เนื้อหาหลักในการประชุม ได้แก่การนำเสนอรายงานการถอดบทเรียนเสนอรายงานการถอดบทเรียนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม โดยนางสาวกุลภา วจนสาระ นักวิจัยชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และรายงานถอดบทเรียนเครือข่ายอาสา (RSA) โดย นพ.นิธิวัธร์ แสงเรือง นักวิจัยมูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

สรุปสาระสำคัญจากการประชุม

เนื้อหาโดยสรุปของรายงานการถอดบทเรียนของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม โดยนางสาวกุลภา วจนสาระ คือที่มาของการเกิดเครือข่ายฯ มาจากข้อเสนอในงานวิจัย และมีเส้นทางการขับเคลื่อนเครือข่ายในช่วง 13 ปี แบ่งได้เป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ ยุคก่อร่างสร้างแนวร่วม (พ.ศ. 2550-2553) ยุคปฏิบัติการ 4 ภารกิจ (พ.ศ. 2554-2558) และ ยุคปรับรื้อโครงสร้าง (พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน) ในภาพรวมอาจเรียกว่าเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ (New Social Movement) ในการขับเคลื่อนประเด็นท้องไม่พร้อมและการทำแท้งที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในด้านสิทธิและความเท่าเทียมในคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมทำงานร่วมกับภาครัฐได้ และมีลักษณะเป็นเครือข่ายชุมชนปฏิบัติการ เป็นเครือข่ายของคนที่สนใจและตั้งใจทำงานช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อม สนับสนุนทุกทางเลือกและให้ผู้หญิงตัดสินใจ กำหนดทิศทางการทำงานเป็น Pro-Voice คือ รับฟังเสียงของผู้หญิงท้องไม่พร้อม โดยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในทุกทางเลือก การให้คำปรึกษาทางเลือกได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญในการทำงานเรื่องท้องไม่พร้อม และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐได้

เครือข่ายท้องไม่พร้อมฯจึงเป็นพันธมิตรที่ดีในการทำงานเชื่อมประสานระหว่างรัฐและเอกชน โดยเฉพาะการเป็นเครือข่ายส่งต่อบริการและช่วยเหลือครบวงจร การขึ้นทะเบียนยา Medabon® และการผลักดันให้บริการยุติฯ รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันกฎหมายและนโยบายสำคัญๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิง ที่สำคัญคือที่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การปรับแก้กฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 เพื่อลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการทำแท้ง

ข้อท้าทายของเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯคือ เรื่องคนและงบสนับสนุนการทำงานขององค์กรสมาชิก โดยเฉพาะคนที่เกาะติดกับประเด็น หลายองค์กรสมาชิกเปลี่ยนรุ่นคนทำงาน หรือมีปัญหาเรื่องทุนทำงาน หรือปรับประเด็นทำงานไป ทัศนคติเรื่องบาปและผลพลอยบาปในการทำแท้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานเรื่องแท้ง

ข้อเสนอทางเลือกต่อการทำงานของเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ น่าจะประเมินและบริหารความเสี่ยงขององค์กร มากกว่าถอดบทเรียนแม้จะเป็นเครือข่ายไม่เป็นทางการ น่าจะเป็นคำถามกลับไปว่า มองการดำรงอยู่ของเครือข่ายฯ อย่างไร ซึ่งมีสิ่งที่ต้องคิดตามมาชุดหนึ่ง เช่น รูปแบบ วิธีการทำงาน จะเปิดรับคนสนใจวงกว้างไหม อย่างไร

ข้อเสนอประเด็นการขับเคลื่อนต่อไปของงานเครือข่ายฯ ได้แก่ ผลักดันให้การทำแท้งเป็นบริการสุขภาพพื้นฐาน ผลักดันให้รัฐทั้งคุ้มครองสิทธิและจัดสวัสดิการรองรับผู้หญิงท้องไม่พร้อมให้สามารถท้องต่อได้อย่างมีคุณภาพและเข้าถึงได้จริง พัฒนาหลักสูตรอบรม options & empowered counseling และพัฒนาหลักสูตรที่ยังไม่มี เช่น pre & post abortion counseling เป็นต้น ผลักดันให้รัฐจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ในการคุมกำเนิดชั่วคราว และจัดบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร โดยเฉพาะหลังยุติการตั้งครรภ์ ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง

เนื้อหาโดยสรุปของรายงานการถอดบทเรียนเครือข่ายอาสา (RSA) โดยนพ.นิธิวัธร์ แสงเรือง มีดังนี้ เครือข่ายอาสาจัดตั้งโดยกรมอนามัยในพ.ศ. 2557 และทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเครือข่าย Choices ในภารกิจงานยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยขับเคลื่อนใน 3 เรื่องหลักด้วยกัน คือส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย งานวิชาการความรู้ในเรื่องการยุติการป้องกันที่ปลอดภัย และการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์

ปัจจัยความสำเร็จสำคัญคือ เครือข่าย RSA เป็นพื้นที่เชื่อมโยงบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ผ่านระบบฐานข้อมูลการการประสานส่งต่อ และมีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์สนับสนุนเพื่อให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นบริการสุขภาพ

สิ่งท้าทายในอนาคต คือทัศนคติหรือว่ากระบวนทัศน์ของสังคมในวงกว้างของการทำแท้ง แต่ในกลุ่มของบุคลากรสายสาธารณสุขบางส่วนที่ทำงานหน้างานในโรงพยาบาลยังมีทัศนคติที่ไม่ค่อยเห็นด้วย และการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 301 โดยเฉพาะเงื่อนไขอายุครรภ์ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้

ดาวน์โหลดไฟล์