การพัฒนาแนวทางการจัดบริการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กรณีท้องต่อ
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม จัดการประชุมเครือข่ายฯ ครั้งที่ 50 ณ ห้องประชุม 413 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน
การประชุมครั้งนี้คณะทำงานฯ ได้นำเสนอ (ร่าง) แนวทางการจัดบริการและคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กรณีท้องต่อ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของคณะทำงานผ่านการจัดประชุมเครือข่าย และการเก็บข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งข้อมูลจากวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องท้องต่อ
สาระสำคัญของร่างแนวทางที่นำเสนอต่อที่ประชุม
ประกอบด้วย การนำเสนอข้อมูลและประสบการณ์การให้บริการ 1663 กรณีท้องต่อ ซึ่งในปี 2562 มีการส่งต่อความช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องต่อจำนวน 156 ราย การให้บริการท้องต่อของ 1663 พบว่า กรณีท้องต่อมีปัญหาที่ซับซ้อน ต้องมีกระบวนการทำงานระยะยาว ยังขาดเครือข่ายส่งต่อบริการที่มีคุณภาพ ปัญหาในการประสานงานล่าช้าและติดตามความก้าวหน้าระหว่างหน่วยบริการส่งต่อทำได้ยาก บุคลากรยังขาดทักษะการปรึกษากรณีท้องต่อ ขณะที่ผู้หญิงที่ท้องต่อในภาวะจำยอมเสี่ยงต่อการใช้บริการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและจำยอมต้องท้องต่อ เป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในมิติเพศภาวะ การป้องกันและแก้ไขปัญหาต้องมองอย่างเป็นระบบตั้งแต่กฎหมาย นโยบาย ตลอดจนมาตรการในทุกระดับปฏิบัติงาน รูปแบบที่สำคัญคือ การทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพระดมความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือ การทำงานจัดการรายกรณี (Case management) ต้องเข้าใจสภาพปัญหาและมองเห็นเส้นทางในชีวิตของผู้หญิง ต้องทำงานอย่างเชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างหน่วยงาน/ข้ามสังกัด ไม่สามารถทำงานช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้าและส่งต่อเป็นท่อน ๆ ได้
นอกจากนี้คนทำงานต้องมีทักษะการปรึกษากรณีท้องต่อ ทักษะการประเมินภาวะอารมณ์และสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต ต้องการทำงานแบบเคียงข้างและเสริมพลังอำนาจ และร่วมกับผู้หญิงเพื่อออกแบบและวางแผนชีวิต ร่างแนวทางดังกล่าวจะถูกพัฒนาให้สมบูรณ์จากผลการดำเนินงานของ 5 พื้นที่นำร่องที่ร่วมโครงการต่อไป
ดาวน์โหลดไฟล์
You must be logged in to post a comment.