การประชุมเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ครั้งที่ 47

ประสบการณ์การช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและจำยอมต้องท้องต่อ

 

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ณ ห้องประชุมสานใจ 2 สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายได้นำเสนอประสบการณ์การช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่นที่ต้องท้องต่อ ในบริบทด้านการศึกษาของวัยรุ่นที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ผ่านประสบการณ์การทำงานของสมาคมส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตซึ่งเข้าไปมีบทบาทในการทำงานในกระบวนการยุติธรรมศาลเยาวชนและครอบครัว การนำเสนอประสบการณ์การดูแลวัยรุ่นที่ต้องท้องต่อในมิติสุขภาพและสวัสดิการสังคมกรณีวัยรุ่นในชุมชนผ่านกลไกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์การบริการส่วนตำบลในพื้นที่อำเภอค่ายเนินวง จังหวัดจันทบุรี  โดยมีองค์กร สมาชิกเครือข่ายฯ ร่วมการประชุม 40 คน

สรุปสาระสำคัญจากการประชุม 

ประสบการณ์การดำเนินกิจกรรมคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการวัยรุ่นท้องต่อของศาลคดีเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มีการใช้มาตรการคุ้มครองเด็กโดยอาศัยอำนาจคำสั่งศาลเพื่อจัดทำแผนแก้ไขและฟื้นฟู เยียวยาเด็กและวัยรุ่น โดยผนวกกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ที่เปิดให้องค์กรเอกชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ทำให้ศาลโดยผู้พิพากษาสมทบ สามารถใช้อำนาจในการพิจารณาเพิ่มโอกาสและทางเลือกด้านการศึกษาให้กับเด็กและวัยรุ่นได้ สมาคมการศึกษาตลอดชีวิตและส่งเสริมอาชีพเป็นตัวอย่างของการอาศัยกรอบดังกล่าว ทำงานช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่นที่กระทำผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้มีโอกาสทางการศึกษา โดยเปิดศูนย์การเรียนและจัดกระบวนการเรียนการสอน ประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปพ.)ได้  ในกรณีของวัยรุ่นที่ท้องและไม่สามารถเรียนในโรงเรียนเดิมจึงสามารถมาเรียนต่อจนจบ ผู้พิพากษาสมทบจึงมีบทบาทสำคัญที่จะพัฒนาแผนและออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อฟื้นฟู เยียวยากับตัวเด็ก ร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในครอบครัวและชุมชน  และภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนได้ ในระหว่างที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมระยะเวลา 1 ปี

ประสบการณ์การช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมและต้องท้องต่อในมิติสุขภาพและสวัสดิการสังคม  จากประสบการณ์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกาะขวาง (หน่วยบริการแห่งเดียวในจังหวัดจันทบุรีที่ถ่ายโอนมาอยู่กับท้องถิ่นในตำบล) ใช้กลุ่มแม่อาสาสมัครทำงานติดตามดูแลแม่หลังคลอดและสนับสนุนให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทาง รพ.สต.จะได้รับข้อมูลแม่วัยรุ่นจากทางโรงพยาบาลประปกเกล้า (รพ.ศูนย์) กลุ่มแม่อาสาฯจะลงเยี่ยมบ้าน เพื่อให้ข้อมูลการดูแลเรื่องสุขภาพทั้งแม่และเด็ก ได้รับงบประมาณจากเทศบาลตำบลต่อเนื่อง 6 เดือน กรณีที่ case มีปัญหาซับซ้อนจะเยี่ยมติดตามจนกว่าจะมีความเข้มแข็งทางจิตใจ (อาจมากกว่า 6 เดือน)

ประสบการณ์งานเทศบาลตำบลค่ายเนินวง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี  ซึ่งเป็นพื้นที่ของโครงการนำร่องศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กและการพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมให้กับพ่อแม่วัยรุ่น ของ พม. งานเริ่มจากการสำรวจข้อมูลและทำกรณีศึกษาเด็กวัยรุ่น ทำให้เห็นภาพรวมและความซับซ้อน กระบวนการให้ความช่วยเหลือต้องทำงานทั้งกับตัวเด็กและครอบครัว (ไม่ได้ดูแลเฉพาะตัวเด็กที่ท้องแต่เข้าไปช่วยเหลือครอบครัวในบริบทปัญหาอื่นร่วม)  มีการใช้กระบวนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ ผู้นำชุมชน นายกเทศมนตรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรท้องถิ่นสามารถใช้แหล่งทรัพยากรของตนและมีบทบาทประสานเครือข่ายจากภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาสมทบ เช่น ครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัยก็ดึงงบจากพัฒนาสังคมมาสร้างบ้านให้เด็กได้มีที่อยู่ที่ปลอดภัย เป็นต้น

 

ดาวน์โหลดไฟล์